คาด "ภัยแล้ง-โควิด" ฉุดเศรษฐกิจภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 4.8

         นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) หดตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2562 โดยสาขาพืชหดตัวร้อยละ 7.3 เป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตเสียหายและน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ผลผลิตต่อไร่ลดลง
         ทั้งนี้ ข้าวนาปรังมีเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 41.2 ผลผลิตลดลงร้อยละ 41.6 อ้อยโรงงานผลผลิตลดลงร้อยละ 12.7 และมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลงร้อย 5.4 นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และลำไยมีผลผลิตและคุณภาพลดลงเช่นกัน สาขาประมงหดตัวร้อยละ 2.2  สำหรับสาขาบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากไตรมาส 1 เป็นช่วงการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังลดลง แม้อ้อยโรงงานจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหา PM 2.5 แต่ภาพรวมสาขาบริการทางการเกษตรยังคงหดตัว

         ขณะที่สาขาปศุสัตว์ไม่ได้รับผลกระทบทางลบ กลับขยายตัวร้อยละ 3.8 เป็นผลจากปริมาณความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงขยายการผลิต ประกอบกับประเทศไทยเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในสัตว์อย่างเข้มงวด
         "หลังจากโควิด-19 คลี่คลายและพ้นฤดูแล้งจะทำให้มีปัจจัยบวกส่งผลให้ภาคเกษตรขยายตัว ความต้องการสินค้าเกษตรมีโอกาสเพิ่มขึ้นสำหรับเป็นอาหาร ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อข้าวไทยและสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน เนื่องจากสะดวกในการบริโภคและสามารถเก็บรักษาได้นาน" นายระพีพัฒน์ กล่าว