ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่จัดการน้ำยั่งยืน/ยึด‘ความรู้คู่คุณธรรม’พาไทยรอดภัยแล้ง

         ภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงกว่าร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปี น้ำในเขื่อนเริ่มลดระดับจนแห้ง ยิ่งกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดว่าภัยแล้งปีนี้จะเกิดขึ้นยาวนาน กว่าฤดูฝนจะมาเยือนต้องรอถึงเดือนมิถุนายน

บ้านสามขา บทเรียนจากฝาย สู่การจัดการกู้วิกฤติแล้ง

       หนึ่งแนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนเห็นว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้... ได้นำไปสู่การระเบิดจากภายในจนเกิดชุมชนต้นแบบบริหารจัดการน้ำของหมู่บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

       ร.ต.ชัย วงศ์ตระกูล ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนบ้านสามขา หรือ หมวดชัย หนึ่งในแกนนำชุมชน เล่า ว่า หมู่บ้านสาม ขาเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเนินเขาสูง ขาดการกักเก็บน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก นำไปสู่ปัญหาการขาด แคลนแหล่งอาหาร ไม่มีแหล่งสร้างรายได้จนเกิดหนี้สิน หมวดชัย จึงพาชาวบ้านไปเรียนรู้ดูงาน การสร้างฝายของโครงการพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 7 ครั้ง เพื่อหวังจะสร้างความเข้าใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกัน หลังผ่านการลองผิดลองถูก ชุมชนก็สามารถทำฝายชะลอน้ำจากบนเขาลงมาด้านล่างได้ถูกวิธี เพื่อดูดซับความชุ่มชื้นกระจายสู่ผิวดิน ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง นำไปสู่การรวมกลุ่มชุมชนสร้างฝาย และร่วมมือกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า

       “ในหลวง ร.9 ทรงรับสั่งว่าให้ใช้วัสดุที่มีในป่า บวกกับแรงกาย แรงใจ แต่หลายคนไม่เชื่อ ในที่สุดเด็กในหมู่บ้านเป็นคนนำร่องทำ ทำให้ผู้ปกครองและคนในหมู่บ้านมาช่วยกัน ลองผิดลองถูกจนสรุปบทเรียนมาใช้ได้จริง

       3 ปีจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงคือดินชุ่มชื้น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่เคยประสบมานาน 40-50 ปี ได้ด้วยบริหารจัดการน้ำ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างระบบแบ่งปัน ที่พาชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ พอมีน้ำก็บริหารจัดการการใช้น้ำและแบ่งปันกันให้ทั่ว ถึง ทั้งยังขยายพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 4-5 ตำบล เกิดการรวมตัวภายใต้เครือข่ายลุ่มน้ำจาง มี เอสซีจีเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ เอกชนในพื้นที่ กำหนดแนวทางการทำงานให้เป็นระบบและชัดเจน

3 พลังประสาน รัฐ-เอกชน-ชุมชน

      แม้วิกฤติภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น แต่ด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการปลูกฝังบทบาทหน้าที่การอนุรักษ์ไปยังเยาวชนในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นทางออกสำหรับวิกฤติในครั้งนี้

      “จะฝ่าวิกฤติภัยแล้งไปได้ ต้องร่วมกัน 3 ฝ่าย ด้วยการแบ่งปันความคิด ซึ่งชุมชนต้องปรับตัว วิเคราะห์น้ำต้นทุน ปริมาณน้ำ และความต้องการใช้ รวมถึงปรับเปลี่ยนพืชพันธุ์เกษตรให้ใช้น้ำน้อยที่สุด เช่น ต้นหอม กระเทียม และเน้นการนำน้ำมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิตเป็นหลัก ตลอดจนสร้างให้คนในชุมชนเข้าใจและเอื้ออาทรกัน บางคนในพื้นที่ห่างไกลไม่มีน้ำ คนในพื้นที่ใกล้เคียงก็พร้อมแบ่งปันกันหมวดชัย กล่าว

เก่าขาม พลิกฟื้นผืนดินแล้ง จากระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

      ต่างชุมชนต่างก็มีแนวทางการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี นั้น ได้พลิกฟื้นพื้นที่ในตำบลที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จนไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ ให้กลับมากักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชนได้ถึง 3 ปี โดยไม่ต้องกังวลภัยแล้ง

      ชาตรี ศรีวิชาฐา นายก อบต. เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เล่าถึงการพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งด้วยระบบการจัดการน้ำ โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวง ร.9 สร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้ำบนดินลงสู่ชั้นใต้ดินที่เรียกว่า ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

      “พื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ประสบภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ตอนแล้งจัดต้องใช้รถขนน้ำมาแจกชุมชน เสียค่าน้ำมัน 6-7 แสนบาท จนมาค้นพบระบบน้ำใต้ดินจากศาสตร์พระราชา

       นายก อบต. เก่าขาม เผยถึงความสำเร็จของชุมชนว่า นอกจากความรู้แล้ว การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การจัดการน้ำในครัวเรือน จนถึงภาคการ เกษตร ด้วยการวางแผนร่วมกันกักเก็บน้ำในหมู่บ้าน โดยทำให้เกิดแหล่งน้ำชั้นใต้ดินหรือน้ำบาดาล โดยไม่หวังพึ่งเพียงหน่วยงานส่วนกลางหรือภาครัฐ

      “ชุมชนบริหารจัดการน้ำตามบริบทท้องถิ่น ไม่โยนภาระไปที่ส่วนกลาง โดยทุกครัวเรือนได้ขุดบ่อเล็ก ๆ ของตัวเอง ไม่ปล่อยน้ำไหลทิ้งลงร่องระบายน้ำสาธารณะ เมื่อฝนตกก็มีบ่อรองรับน้ำเพื่อส่งต่อไปยังบ่อรองรับของชุมชน จากนั้นปล่อยไปยังพื้นที่เกษตรเพื่อผันน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียงไว้ใช้

จัดการน้ำชุมชนด้วยนวัตกรรม

         นอกจากนี้ อบต.เก่าขาม ยังนำนวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำด้วยการฝังเซ็นเซอร์ที่ชั้นใต้ดิน เพื่อช่วยวัดระยะเวลาการซึมน้ำไปสู่ชั้นใต้ดิน ปริมาณน้ำ การปน เปื้อน และวิเคราะห์คุณภาพน้ำชั้นใต้ดิน ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งโครงการ บัญชีนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียงนี้ เข้าประเมินรับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ประจำปี 2563 เพื่อเชิดชูเกียรติงานบริการภาครัฐเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนายั่งยืนขององค์การสหประชาชาติหรือ UN

      “คนในชุมชนต้องรู้ว่าต้องการน้ำเท่าไหร่ น้ำมีเท่าไหร่ และต้องเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เมื่อชุมชนรู้บริบท รู้บัญชีน้ำต้นทุนของตนเอง จึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต้องมีการติดตาม ประ เมินผล สรุปวิเคราะห์ เพื่อค้นหาอุปสรรคและหาโอกาสในการขยายผล

เอสซีจี รักษ์น้ำฯ ปันบทเรียนสู่ 108 ชุมชน

        อย่างไรก็ตาม มิติของการบริหารจัดการน้ำให้มีความยั่งยืนนั้น ชุมชนอาจไม่สามารถก้าวผ่านอุปสรรคได้เพียงลำพังหากไม่มีพี่เลี้ยงผู้คอยให้การสนับสนุน ทั้งเติมเต็มองค์ความรู้ และอำนวยความสะดวกให้ชุมชน เอสซีจี เป็นองค์กรที่มุ่งสานต่อปณิธานด้านการดูแลทรัพยากรน้ำ ด้วยเชื่อว่า น้ำ คือหัวใจของการก่อกำเนิดชีวิต จึงเริ่มต้นโครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานทีตั้งแต่ปี 2546 จากชุมชนรอบโรงงานปูนซีเมนต์ จนขยายผลไปสู่โครงการ เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง

       บวร วรรณศรี ผู้จัดการปฏิบัติการธุรกิจและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ย้อนถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2537 เมื่อไปตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ที่ จ.ลำปาง แต่พบว่าพื้นที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมจึงร่วมกันคิดฟื้นฟูปลูกป่าทดแทน แต่โดนไฟไหม้ป่าทุกปี จึงไปศึกษาโครงการพระราชดำริการสร้างฝายชะลอน้ำที่ห้วยฮ่องไคร้ จนสามารถฟื้นฟูป่าให้กลับมาเขียวขจี และขยายผลไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชนรอบโรงงาน

      “เอสซีจีอำนวยความสะดวกให้ชุมชน ไม่คิดแทน ไม่ทำแทน และไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง โดยชุมชนต้องลงมือทำด้วยตนเอง ร่วมเก็บข้อมูลทรัพยากรในชุมชน ทั้งดิน น้ำ ป่า และพืชเศรษฐกิจ ทำให้เห็นข้อมูลว่าชุมชนเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้ไม่ถึงร้อยละ 2 ทั้งที่ทุกพื้นที่มีเครื่องมือหลากหลาย ทั้งแก้มลิง บ่อพวง ฝายชะลอน้ำ และธนาคารน้ำใต้ดิน

       เมื่อปีนี้วิกฤติภัยแล้งรุนแรงขึ้น เอสซีจีก็ได้ต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลการบริหารจัดการน้ำให้ 108 ชุมชนที่มีภัยแล้งซ้ำซาก ได้ลุกขึ้นมาร่วมมือ เรียนรู้วิธีแก้ไข เพื่อให้รอดภัยแล้งด้วยตนเอง ภายใต้โครงการ เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 โดยมีเครือข่ายร่วมสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ แก้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ขณะที่สยามคูโบต้า นำเครื่องจักรกลช่วยเสริมการสำรวจและขุดเจาะ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชน จุดมุ่งหมาย คือ สนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาด้วยตนเองตามแนวพระราชดำริ ใช้ ความรู้คู่คุณธรรมรวมถึงนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบแหล่งน้ำ วางแผนจัดทำผังน้ำ และใช้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน

       สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนรู้ รัก สามัคคี มีส่วนร่วม พึ่งพาตนเองจัดสรรแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม ขยายความรู้สู่ชุมชนอื่นต่อไป เช่นที่หมู่บ้านสาแพะเหนือ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม ที่บริหารจัดการแหล่งน้ำให้กักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นด้วยการสร้างฝายใต้ทราย ขุดลอกวังน้ำ โดยชาวบ้านช่วยกันทำ ทำให้รอดภัยแล้งในปีนี้ไปได้

แผนแม่บทน้ำ 20 ปี ดึงชุมชนจัดการ พร้อมสั่งลุยด่วนสู้ภัยแล้ง

       ภาครัฐเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการกำกับดูแลด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านกฎหมาย และนโยบายการพัฒนา ที่ต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการ โดยได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง ด้วยการจัดทำแผนแม่บทน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

       ประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม หลังมีกฎหมายบังคับใช้ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการจัดการการใช้ พัฒนา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ 38 หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องทำงานร่วมกัน โดยจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ระดับลุ่มน้ำ ที่ให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้น้ำจริง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

      แม้ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาที่รุนแรงสักเพียงใด แต่หากทุกฝ่ายทั้งชุมชน ภาครัฐ เอกชน ลุกขึ้นมาร่วมมือ เรียนรู้ ลงมือทำ แบ่งปันกัน โดยอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมจัดการตามบริบทของแต่ละพื้นที่  ทั้งติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถฝ่าวิกฤติทั้งภัยแล้งนี้ หรือปัญหาภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน