สทนช.เดินหน้า SEA พัฒนาลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ชมคลิป)

         สทนช. ลงพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เดินหน้า SEA สร้างกระบวนการวิเคราะห์แผนงาน/โครงการอย่างเป็นระบบ คำนึงสมดุลด้านเศรษฐกิจ-สังคม ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกในทุกมิติ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสงขลา และโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ณ ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูอนุรักษ์ลุ่มน้ำและป่าชายเลน และโครงการขุดร่องน้ำปากแม่น้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ว่า ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ 26,023 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 13 ลุ่มน้ำสาขา ใน 11 จังหวัด ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งจังหวัดหรือบางส่วน ได้แก่ จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี

         โดยมีลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำปัตตานีแทรกตัวเป็นช่วงๆ ลักษณะของลุ่มน้ำไม่ได้ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด โดยมีแม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าแซะ คลองท่าตะเภา คลองหลังสวน แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ความลาดชันของท้องน้ำสูงในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ และลดน้อยลงในบริเวณตอนกลางและตอนปลายของลำน้ำ จนไหลลงสู่อ่าวไทย ทำให้พื้นที่มักประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน อีกทั้งลำน้ำที่สั้นและความเร็วกระแสน้ำสูง จึงเกิดการพังทลายและการกัดเซาะหน้าดิน นอกจากนี้กระแสน้ำที่ไหลลงทะเลสู่อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ประกอบกับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งผลให้มีแนวโน้มการขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นด้วย

         "จากสภาพปัญหาของพื้นที่ ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบด้าน ซึ่ง สทนช. เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการศึกษา "โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก" โดยนำกระบวนการ SEA หรือกระบวนการที่ใช้สําหรับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ มาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจที่เหมาะสมจากมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับพื้นที่ได้ชัดเจน ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งมีรูปแบบทางเลือกการพัฒนาและแผนงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานระดับนโยบายได้" เลขาธิการ สทนช. กล่าว

         นายสนอง จันทร์รักษ์ นายอำเภอเทพา กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอเทพา มีจุดแข็งในเชิงความหลากหลายทางกายภาพของพื้นที่ ทั้งเป็นเทือกเขา พื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ทำให้มีระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ แต่กลับพบว่า ในพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม โดยเหตุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 26 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาข้อจำกัดของการพัฒนาและเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด รวมถึงปัญหาการบุกรุกหรือรุกล้ำโดยมิชอบในพื้นที่ป่าต้นน้ำและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นที่มาการจัดตั้ง โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอเทพาที่ยั่งยืน (เทพาของเรา: Tiba Kita) ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการทรัพยากรชุมชนที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีและความสุขที่ยั่งยืนให้ชาวเทพา และได้กำหนดยุทธศาสตร์ของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ การประกอบอาชีพ และชีวิตประจำวันของผู้คน


         ทั้งนี้ โครงการศึกษา SEA พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ดำเนินการจัดประชุมปฐมนิเทศไปแล้ว รวม 4 เวที ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน นอกจากนี้ ยังมีการประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขา รวม 14 เวที จำนวน 2 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งมากกว่า 400 คน ที่ประกอบด้วย หน่วยงานภาคราชการและภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคประชาชน โดยพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่ตัวอย่างของการบูรณาการบริหารจัดการน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนราชการและเอกชน และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ที่ร่วมกันสำรวจและวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนติดตามและหาแนวทางแก้ไข ก่อเกิดเป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน โดยจุดที่นำคณะลงพื้นที่ ประกอบด้วย โครงการขุดร่องปากแม่น้ำเทพา ตามแผนงานป้องกันน้ำท่วมอำเภอเทพา เป็นโครงการขุดร่องน้ำ (พื้นที่ปลายน้ำ) ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายปริมาณน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้รวดเร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัยของอำเภอเทพา โดยดำเนินการขุดลอกร่องน้ำปากน้ำเทพาทั้งร่องในและร่องนอก ประกอบด้วยการขุดลอกและขยายปากแม่น้ำ การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ รวมถึงการสร้างท่าเทียบเรือประมง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564


         นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำและป่าชายเลนอำเภอเทพา ที่เดิมเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนและมีการทำลายทรัพยากรแหล่งน้ำ รวมทั้งการลักลอบตัดไม้ป่าชายเลน โดยกลุ่มนายทุนเลี้ยงกุ้ง ก่อให้เกิดการชะล้างของหน้าดินและเกิดการสะสมของสารเคมี อีกทั้งยังเป็นจุดรับน้ำที่รับการชะล้างหน้าดินมาจากต้นชุมชน ก่อให้เกิดตะกอนสะสมจนกลายเป็นน้ำเสียและโคลนตม สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ชาวบ้านร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ รณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันในการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำป่าชายเลนอย่างเป็นระบบ


         "การลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำทั้ง 2 จุด สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อรักษาระบบนิเวศ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น เหมาะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน และด้านที่ 6 การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากคนในชุมชนและจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งหลังจากนี้ สทนช. จะนำข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และตัวอย่างของความสำเร็จไปต่อยอดปรับใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ให้เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ตอบโจทย์แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจร และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย