สทนช. เข้มจัดกระบวนทัพรับมือภัยแล้งในทุกมิติ

สทนช. เข้มจัดกระบวนทัพ
รับมือภัยแล้งในทุกมิติ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         สถานการณ์น้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ค่อนข้างวิกฤติ ช่วงเวลาปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 เฉพาะ 2 เดือน คือ ธันวาคม 2562 กับ มกราคม 2563 สะท้อนถึงความวิกฤติของประเทศชัดเจนขึ้น
         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่า 2 เดือนนี้ปริมาณฝนทั้งประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ ถึง 50% ภาคใต้แม้ปกติฝนชุก แต่ปริมาณฝนเดือนธันวาคมจะน้อยกว่าค่าปกติ 20% ส่วนเดือนมกราคมจะใกล้เคียงค่าปกติ
         ส่วนปริมาณน้ำล่าสุด จากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศนั้น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การ 22,879 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% ของปริมาณกักเก็บและมีแนวโน้มลดลง โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ในขณะแหล่งน้ำขนาดกลาง 78 แห่งมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน 39 แห่ง ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคตะวันตก กับภาคใต้ภาคละ 1 แห่ง

         พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีข้อห่วงใยจึงได้จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 โดยย้ำให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเน้นให้เก็บกักน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง 2562/2563 ให้เป็นไปตามแผนอย่างรัดกุม
         ดร.สมเกียรติ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการเชิงป้องกันการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ตามที่ สทนช. และหน่วยงานเกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำล่วงหน้า ประกอบด้วย 15 มาตรการหลักครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่
         1) ด้านน้ำต้นทุน 4 มาตรการ 1.จัดทำแผนสำรองน้ำ/แหล่งน้ำสำรอง/ขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่เสี่ยง /ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ/ขุดลอกลำน้ำตื้นเขิน/ดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง
         2) ด้านความต้องการใช้น้ำ 7 มาตรการ แบ่งเป็น น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2 มาตรการ คือ 1.ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบนให้เป็นไปตามแผนไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของพื้นที่ตอนล่าง 2.ควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ เป็นการลดปริมาณน้ำดีไล่น้ำเสีย 2.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปุทมธานี อย่างใกล้ชิด 3.ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำและลำน้ำ 4.สำรวจตรวจสอบถนนที่เชื่อมต่อทางน้ำในพื้นที่อ่อนไหวต่อการทรุดตัวของคันคลอง เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าปกติเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการเกษตร 1 มาตรการ คือ วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จัดทำทะเบียนผู้ปลูกพืช โดยระบุพื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้อย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน

         3) ด้านการติดตามประเมินผล 3 มาตรการ 1.ติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน 2.ให้ สทนช. ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และกิจกรรมการใช้น้ำร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 3.หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำติดตามเฝ้าระวัง และรายงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
         4) ด้านการเตรียมการและสร้างความรับรู้ 1 มาตรการ ให้ สทนช. ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้หน่วยงาน คณะกรรมการลุ่มน้ำและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เตรียมพร้อมต่อการปรับตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง รับรู้มาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลต่อ สทนช. ทุกสัปดาห์ เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานหรือปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์


         "สทนช. ได้เรียกประชุม 25 หน่วยงานเกี่ยวข้อง บูรณาการแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง 38 จังหวัด ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"
         ที่ประชุมยังมีข้อสรุปสำคัญ 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง โดยได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องจัดสรรมากกว่าแผนให้รายงาน สทนช. ทราบก่อน เพื่อไม่ให้กระทบน้ำต้นทุน โดยขณะนี้ กรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดําเนินการปรับแผนการจัดสรรน้ำทั้งอ่างขนาดใหญ่ จํานวน 14 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ กระเสียว แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา ขุนด่านปราการชล นฤบดินทรจินดา คลองสียัด ประแสร์ ศรีนครินทร์ วชริาลงกรณ บางพระ ลําพระเพลิง และขนาดกลาง 11 แห่ง โดยส่งแผนการจัดสรรน้ำที่มีการปรับใหม่ให้ สทนช. ทราบแล้ว

         ประเด็นที่ 2 กำหนดเจ้าภาพหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่ประชุมมอบหมายให้การประปานครหลวงพิจารณาใช้น้ำจากฝั่งตะวันตกมาทดแทนการใช้น้ำฝั่งตะวันออกมากขึ้น และร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะบ่อบาดาลสำรองน้ำเพิ่มเติม เช่นเดียวกับการประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการเสนอแผนป้องกันพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
         ประเด็นสุดท้าย พิจารณาพิ้นที่ลุ่มต่ำนำร่องสำหรับหน่วงและเก็บน้ำกักน้ำหลาก โดยมอบหมายให้กรมชลประทานปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ และเพิ่มเติมพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี
         "สทนช. บูรณาการความร่วมมือกับหนวยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ โดยกำหนดมาตรการครอบคลุมรอบด้าน และขับเคลื่อนทุกมาตรการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ป้องกันบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจากภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เลขาธิการ สทนช. กล่าว