สถานการณ์น้ำอีอีซี 20 ปี การันตี มีน้ำต้นทุนพอเพียง

สถานการณ์น้ำอีอีซี 20 ปี
การันตี มีน้ำต้นทุนพอเพียง
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล


         พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา
         เป็นนโยบายต่อยอดพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งภาคตะวันออกที่นิยมเรียกว่า อีสเทิร์น ซี บอร์ด โดยเพิ่มฉะเชิงเทราเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย
         โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมมากมาย อาทิ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาเชื่อมโยงกัน ทางหลวงพิเศษ และ ฯลฯ เป็นต้น
         หนึ่งในโครงสร้างเหล่านั้น คือ การเตรียมการเรื่องทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มจากกว่า 4 ล้านคน เป็นกว่า 6 ล้านคน ในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2580)
         หน่วยงานเจ้าภาพเรื่องน้ำ หนีไม่พ้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้กำกับนโยบายน้ำของชาติ


         "เราต้องเร่งทำเรื่องน้ำ และต้องดูแลควบคู่ไปทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหรรม ภาคท่องเที่ยว และภาคครัวเรือน โดยสร้างสมดุลระหว่างกัน" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว
         ทั้งนี้ สทนช. ได้ศึกษาจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพิ่งเสร็จสิ้น โดยวิเคราะห์สภาพปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการจัดการคุณภาพน้ำ
         สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พื้นที่อีอีซี มีอุปสงค์ (Demand) ความต้องการใช้น้ำ 2,419 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประกอบด้วยน้ำอุปโภคบริโภค 251 ล้าน ลบ.ม. (10.4%) น้ำอุตสาหกรรม 606 ล้าน ลบ.ม. (25%) น้ำเพื่อการเกษตร 1,562 ล้าน ลบ.ม. (64.6%)
         แต่ในปี 2580 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มเป็น 3,089 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำอุปโภคบริโภค 392 ล้าน ลบ.ม. (12.7%) น้ำอุตสาหกรรม 865 ล้าน ลบ.ม. (28%) น้ำเพื่อการเกษตร 1,832 ล้าน ลบล.ม. (59.3%)
         โครงสร้างสัดส่วนความต้องการน้ำแต่ละภาคส่วนเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

         ทีนี้มาถึงอุปทานน้ำ (Supply) หรือแหล่งน้ำต้นทุนในอีอีซี จาก 5 แหล่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 23 แห่ง ความจุรวม 1,368 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่จัดสรรมาจากแหล่งน้ำอื่นในช่วงฤดูแล้งประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 597 ล้าน ลบ.ม. จากแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก รวม 395 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือเป็นน้ำท่าจากฝนตกในพื้นที่ น้ำบาดาล และน้ำจากสระเก็บน้ำของเอกชน
         โดยในปี 2570 คาดว่าจะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม เมื่อคิดปริมาณความต้องการใช้น้ำเทียบกับปีน้ำเฉลี่ย (เทียบกับปริมาณน้ำต้นทุนปี 2552) รวม 12.07 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งส่วนมากเกิดในพื้นที่ชลบุรี-ระยอง และเพิ่มเป็น 28.04 ล้าน ลบ.ม.เมื่อคิดปริมาณความต้องการใช้น้ำเทียบกับปีน้ำน้อย (เทียบกับปริมาณน้ำต้นทุนปี 2548) ตามลำดับ ขณะที่การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 19.71 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มเป็น 165.5 ล้าน ลบ.ม. ตามปีน้ำเฉลี่ยและปีน้ำน้อยตามลำดับ
         พอปี 2580 จะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำอุตสาหกรรม 20.43 ล้าน ลบ.ม. ในปีน้ำเฉลี่ย และเพิ่มเป็น 59.04 ล้าน ลบ.ม. ในปีน้ำน้อย ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในปีน้ำเฉลี่ยประมาณ 23.83 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มเป็น 169.18 ล้าน ลบ.ม. ตามปีน้ำเฉลี่ยและปีน้ำน้อยตามลำดับ


         ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สทนช. จะพัฒนาแหล่งน้ำออกเป็น 2 ช่วง คือ 2563-2570 และในปี 2571-2580 เพื่อให้รองรับความต้องการใช้น้ำถึงปี 2580
         โดยช่วงแรก (พ.ศ.2563-2570) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 9 แห่ง ใน 3 จังหวัด รวมทั้งจันทบุรี ได้แก่ อ่างคลองพะวาใหญ่ อ่างคลองหางแมว อ่างวังโตนด อ่างคลองกะพง อ่างห้วยกรอกเคียน อ่างหนองกระทิง อ่าวคลองกระแส อ่างคลองโพล้ และอ่างคลองน้ำเขียว เพิ่มน้ำต้นทุน 207.32 ล้าน ลบ.ม.
         ปรับปรุงและเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 6 แห่ง ได้แก่ อ่างหนองค้อ อ่างหนองปลาไหล อ่างบ้านบึง อ่างมาบประชัน อ่างคลองหลวง และอ่างคลองสียัด เพิ่มน้ำต้นทุน 91.5 ล้าน ลบ.ม.
         ปรับปรุงระบบเครือข่ายเดิม ได้แก่ ผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพิ่มน้ำต้นทุน 20 ล้าน ลบ.ม.
         ก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำใหม่ ได้แก่ ระบบผันน้ำพานทอง-อ่างบางพระ และระบบเครือข่ายน้ำอ่างคลองประแสร์-อ่างหนองค้อ-อ่างบางพระ เพิ่มน้ำต้นทุน 20 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างระบบสูบกลับ ได้แก่ ระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างประแสร์ เส้นที่ 1 และ 2 เพิ่มน้ำต้นทุน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาแก้มลิงบางพลวง เพิ่มน้ำต้นทุน 200 ล้าน ลบ.ม. ขุดลอกคลองในโครงการพระองค์ไชยานุชิต เพิ่มน้ำต้นทุน 7 ล้าน ลบ.ม. และน้ำสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและสระเอกชน รวมแล้วกว่า 59 ล้าน ลบ.ม.
         พัฒนาน้ำบาดาลเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Well Field) 12 ล้าน ลบ.ม.
         "รวมน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นช่วงแรก 704.8 ล้าน ลบ.ม. รองรับความต้องการถึงปี 2570 โดยไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ" ดร.สมเกียรติกล่าว


         เช่นเดียวกับการพัฒนาในช่วงที่ 2 จะก่อสร้างระบบสูบกลับอ่างคลองหลวงและอ่างคลองสียัด เพิ่มน้ำต้นทุน 31 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำพระสะทึง-อ่างคลองสียัด เพิ่มน้ำต้นทุน 60 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำใหม่ วังโตนด-อ่างประแสร์ (เส้นที่ 2) และระบบเครือข่ายน้ำอ่างคลองโพล้-อ่างประแสร์ เพิ่มน้ำต้นทุน 75 ล้าน ลบ.ม.
         "รวมน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2571-2580 อีก 166 ล้าน ลบ.ม. รองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำถึงปี 2580 โดยไม่ขาดแคลน" ดร.สมเกียรติสรุป
         รวมปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขี้นรองรับพื้นที่อีอีซีทั้ง 2 ช่วง เท่ากับ 870.8 ล้าน ลบ.ม. แต่เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งต้องมีแผนสำรองรองรับสภาพฝนน้อย ตามความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาน้ำทะเลเป็นน้ำจืดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา และพัฒนาอย่างจริงจังด้วย
         เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การเพิ่มน้ำต้นทุนอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องบริหารจัดการด้านการใช้น้ำควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ชะลอการพัฒนาแหล่งน้ำ และลดปริมาณน้ำเสียด้วย
         "พื้นที่อีอีซี น้ำจะมีความสำคัญในตัวสูง เพราะภาคเกษตรที่เป็นไม้ผลก็ดี ภาคอุตสาหกรรมก็ดี ล้วนต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ" เลขาธิการ สทนช. สรุปทิ้งท้าย