ชป.ชะลอน้ำลุ่มน้ำชี-มูล หวังลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม

         เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 62 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการริหารจัดการน้ำชี-มูล ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า จากอิทธิพลของพายุ "โพดุล" และพายุ "คาจิกิ" ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 26 ส.ค. - 5 ก.ย. 2562 ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน มีพื้นที่ประสบอุทกภัยจำนวน 1,479,519 ไร่ 80 อำเภอ 8 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี และมหาสารคาม กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 60 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 106 เครื่อง และกาลักน้ำ จำนวน 34 ชุด เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องแล้ว


         "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ได้สั่งการให้กรมชลประทาน กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ยังคงถูกน้ำท่วมสูง โดยในแม่น้ำชี ได้ทำการชะลอน้ำจากแม่น้ำชีตอนบนที่เขื่อนมหาสารคาม ด้วยการลดบานระบายน้ำลงให้เหลือ 10 เซนติเมตร และทำการควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก จำนวน 23 แห่ง ด้านท้ายเขื่อนมหาสารคาม โดยจะปรับลดอัตราการระบายน้ำให้เหลือวันละ 36 ล้าน ลบ.ม. และจะทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ"

 

         สำหรับทางด้านแม่น้ำมูล กรมชลประทาน จะทำการชะลอน้ำที่เขื่อนราศีไศล ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ โดยจะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวน 57 แห่ง รวมไปถึงการชะลอน้ำในลำเซบาย จังหวัดอำนาจเจริญ และ ลำเซบาย จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งลำโดมใหญ่ และลำน้ำสาขาอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมกับเฝ้าระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M.7 ให้อยู่ในอัตรา 4,600 ลบ./วินาที


         กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำสูงสุดจะไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในช่วงเวลา ประมาณ 11.00 - 13.00 น. วันที่ 13 ก.ย. 62 ในเกณฑ์ประมาณ 4,800 - 4,900 ลบ.ม./วินาที หรือสูงกว่าตลิ่งปริมาณ 3.70 - 3.80 เมตร ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงในระยะต่อไป ทั้งนี้ การระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง จะระบายได้ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในแม่น้ำโขง หากระดับน้ำลดต่ำลง การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงจะทำได้เร็วขึ้น แต่หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงมาก จะส่งผลให้น้ำระบายได้ช้าเช่นกัน