"ประวิตร" มอบนโยบาย สทนช. สั่งทำแก้มลิงทั่วประเทศ

         การประชุมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการดำเนินงาน สทนช. 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ (ใหม่) ผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 - 4
         2.ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำ
         3.ติดตามและประเมินผลแผนงาน โครงการ และงบประมาณ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 40 หน่วยงาน


         4.อำนวยการ กำกับ ขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับชาติ หรือโครงการเร่งด่วนที่ต้องมีการประสานงานกับหลายหน่วยงาน
         5.กำกับ ดูแล การบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
         6.ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

         และ 7.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มาใช้ในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรน้ำ การดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ที่ได้กล่าวมาให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของ สทนช.น้อมนำ "หลักราชการ" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพช้าราชการที่สำคัญยิ่งมาเป็นที่พึ่ง โดยยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ 10 ประการ


         พลเอกประวิตร กล่าวว่า จะต้องมีการตั้งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ หรือ วอร์รูม เพื่อให้ทุกพื้นที่รายงานสถานการณ์น้ำมาที่ สทนช. รวมทั้งจัดทำแก้มลิงเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อใช้ในฤดูแล้ง โดยจะต้องมีการจัดทำแก้มลิงทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตนเองมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ของประเทศ โดยได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา
         พร้อมได้กำชับให้ สทนช.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่จากอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ โดยขอให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนระบายน้ำ แจ้งเตือนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้า ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติตลอดจนใช้อาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดจราจรน้ำ หน่วงน้ำ ผันน้ำเพื่อเลี่ยงพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้นให้พิจารณาใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง และพื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับน้ำ หน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง