"มกอช.-ปศุสัตว์" ประชุม OIE ที่ญี่ปุ่น หารือยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพสัตว์

         ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้แทนจาก มกอช. กรมปศุสัตว์ และกรมประมง เข้าร่วมการประชุม OIE Regional Commission for Asia, the Far East and Oceania ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 3-6 ก.ย. 2562 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น


         การประชุม OIE Regional Commission for Asia, the Far East and Oceania ครั้งที่ 31 มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสถานะและการดำเนินงานในภูมิภาค ทั้งด้านบทบาทของ OIE กรอบแผนงานในปี 2559-2563 และด้านโรคสัตว์/ปัญหาด้านสุขภาพสัตว์ที่สำคัญ เช่น บทบาทของ OIE ในการสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำและการปรับปรุงความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ความท้าทายของปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ การเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพสัตว์น้ำของ OIE การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพสัตว์ของประเทศสมาชิก และการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกในการลดการตายของคนจากปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า

 

         ดร.จูอะดี เปิดเผยว่า มกอช. ได้เข้าร่วมให้ข้อมูลการจัดทำมาตรฐานระดับประเทศของประเทศไทย เพื่อรองรับประเด็นดังกล่าวในการสนับสนุนงานด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และความปลอดภัยอาหารของประเทศ เช่น ได้มีการประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ และการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งมีข้อกำหนดการใช้ยาต้านจุลชีพ เพื่อลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในระดับชาติ มีการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่ดีสำหรับคอกสุนัข ซึ่งจะประกาศใช้ในปี 2562 และ มกอช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างมาตรฐานการชันสูตรโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สร้างปัญหาให้หลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้


         "การประชุมครั้งนี้ ช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการประสานความร่วมมือของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ในประเด็นสำคัญและเป็นปัญหาท้าทาย เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่ง มกอช. จะได้นำข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพสัตว์และสวัสดิภาพและความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานที่สอดคล้องกับ OIE และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เหมาะสมในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย โดยดำเนินงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" เลขาธิการ มกอช. กล่าว