จัดการน้ำสไตล์ฝายโป่งนก ได้น้ำถ้วนทั่วทั้งอ่างฯ ดอยงู

จัดการน้ำสไตล์ฝายโป่งนก ได้น้ำถ้วนทั่วทั้งอ่างฯ ดอยงู

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         ฝายโป่งนก เป็นฝายท้ายสุดที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อ่างฯดอยงู สร้างปิดกั้นแม่น้ำเจดีย์ ความจุระดับเก็บกักกว่า 7 ล้านลูกบาศก์เมตร

         จาก อ่างฯดอยงูลงไป เป็นฝายชะลอน้ำหน้าวัดเจดีย์ 13 จุด ฝายบ้านชุ่มเมืองเย็น จากนั้นแม่น้ำเจดีย์จะไหลไปบรรจบแม่น้ำลาว แล้วมีฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก เป็นลำดับสุดท้าย

         การมีอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงความราบรื่นในการส่งน้ำ-รับน้ำ เพราะแต่ละช่วงฝายต่างคนต่างต้องการน้ำและไม่สามารถจัดระเบียบได้ จึงกลายเป็นมือใครยาวสาวได้สาวเอา

         พื้นที่รับน้ำฝายโป่งนกจึงไม่มีน้ำ ท่ามกลางความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมถึงฝายพ่อขุน ฝายหนองหอยที่เหนือขึ้นไป ใช่จะได้รับทั่วถึงเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อฤดูนาปรัง 2557/2558 ที่ประสบความแห้งแล้งอย่างรุนแรง

         แล้วทำไมฝายโป่งนกถึงได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2563 ของกรมชลประทาน ซึ่งจะเข้ารับรางวัลพระราชทานในวันพืชมงคล 5 พฤษภาคม 2563

         ความจริงกรมชลประทานได้เข้าไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรฝายโป่งนกครั้งแรกในปี 2558  แต่เกิดความไม่เข้าใจกันจนต้องล้มเวทีกลางคันหลังประชุมได้ไม่นาน  หลังจากนั้นก็ยังเพียรพยายามเข้าไปโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ผ่านงานวิจัยท้องถิ่น การเปิดเวที การจัดทำประวัติชุมชนในแต่ละช่วงตอนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ ปัญหาความเดือดร้อน และต้นตอสาเหตุ ช่วยให้ชุมชนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วไปถึงความต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้องร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ กับส่วนราชการ โดยเฉพาะกรมชลประทานในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

         เมื่อกรมชลประทานเปลี่ยนจากกำหนดฝ่ายเดียว มาฟังความต้องการของเกษตรกร และเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรกำหนดด้วยตัวเองจากการเปิดเวทีครั้งแล้วครั้งเล่าไม่น้อยกว่า 3 ปี จากการระเบิดจากภายในสู่ภายนอก ฝายโป่งนกจึงประสบความสำเร็จร่วมกับฝายอื่นๆ ที่อาศัยน้ำจากอ่างฯ ดอยงู

         ถ้าพูดถึงความสำเร็จที่เห็นผลหลังจากการเข้าไปทำกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มที่ปี 2560 และเห็นผลจริงจังในปี 2561นายไพโรจน์ แอบยิ้ม เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานเชียงราย ในฐานะกระบวนกร (Facilitator) เล่า

         รูปธรรมของความสำเร็จมีหลายอย่าง อาทิ การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่ฝายโป่งนกได้รับจัดสรรน้ำ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่นา 4,200 ไร่ อัตราการใช้น้ำต่อไร่ 850-950 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าใช้น้ำได้อย่างประหยัด โดยใช้เทคนิคปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง นอกจากพอใช้แล้ว บางครั้งยังมีเหลือเจียดจ่ายให้พื้นที่อื่นได้อีก

          การบริหารจัดการน้ำฝายโป่งนกยังเก็บเงินสมาชิกรายละ 30 บาทต่อไร่ โดย 10 บาทแรกเข้ากองทุนรวม อ่างฯ ดอยงู 5 บาทที่สองเข้ากองทุนบำรุงรักษาและบริหารจัดการน้ำฝายโป่งนก และอีก 15 บาทสำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำของฝายโป่งนก

         ถ้าจู่ๆ ไปเก็บ เกษตรกรไม่ยอมแน่นอน แต่จากการปูพื้นความคิดและเริ่มเห็นผลจากการมีส่วนร่วมแล้ว เกษตรกรยินดีจ่าย” กระทั่งการซ่อมแซมฝาย อาคารชลประทานต่างๆ ชุมชนก็ซื้ออุปกรณ์จัดซ่อมเอง การประเมินปริมาณน้ำก็ได้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานช่วยแนะนำจนดูเป็นจัดการเอง ฯลฯ

         ปัจจุบัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่รับผิดชอบพิ้นที่โครงการนับหมื่นนับแสนไร่ มีข้าราชการเพียงคนเดียว ลูกจ้างหยิบมือเดียว จึงเป็นความสอดคล้องต้องกันในการพัฒนาให้องค์กรผู้ใช้น้ำเข้มแข็ง ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้น มีน้ำเท่าไหร่ก็ไม่พอ แถมยังทวีความขัดแย้งแย่งน้ำรุนแรงยิ่งขึ้น โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำฝายโป่งนก มีนายอิ่นแก้ว สันอุดกร เป็นประธาน มีสมาชิกกลุ่ม 1,626 คน มีพื้นที่ส่งน้ำ 12,591 ไร่

         เมื่อเข้มแข็งแล้วก็เป็นที่เบาใจเบาภาระของกรมชลประทาน และขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นที่มีปัญหาโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

ad ปศุสัตว์ 2