"เอลนิโญ-การใช้น้ำเกินแผน" รุมสกรัมเจ้าพระยา

"เอลนิโญ-การใช้น้ำเกินแผน" รุมสกรัมเจ้าพระยา
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         การโหมปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้ง 2561/2562 ที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นจุดพลิกผันสำคัญ ทำให้แหล่งน้ำต้นทุนประสบปัญหาน้ำน้อยกว่าปกติมาก
         เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำเกินไปจากแผนจัดสรรน้ำ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 1.5 เขื่อน
         ในฤดูแล้ง น้ำที่เก็บกักในเขื่อนตั้งแต่สิ้นฤดูฝน ส่วนหนึ่งจัดสรรใช้ตามแผนการส่งเสริมการเพาะปลูก ทั้งข้าวนาปรังและพืชผัก บางส่วนยังต้องสำรองไว้ต้นฤดูฝนรองรับกรณีฝนทิ้งช่วง
         แต่เมื่อปลูกเกินแผน การใช้น้ำก็พลอยเกินแผนไปด้วย ทำให้เหลือน้ำน้อยกว่าปกติ
         "เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำเกินแผน 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่เกินแผนทั้งประเทศ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อน 4 แห่งลดต่ำลงมาก" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว


         เขื่อน 4 แห่งประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
         การใช้น้ำเกินแผนมีเหตุผลหลายประการ ทั้งความเคยชินเก่าๆ ที่คิดว่าใช้เพิ่มหน่อย เดี๋ยวพอเข้าฤดูฝนน้ำก็กลับมาเต็มเหมือนเดิม แรงกดดันจากฝ่ายการเมืองให้ส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ไม่ว่าอยู่ในแผนหรืออยู่นอกแผน แต่เป็นพื้นที่คะแนนเสียง หรือการเรียกร้องของเกษตรกรเองในพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ
         ประเด็นสำคัญที่เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา คือฝนทิ้งช่วงนาน อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) แผ่คุกคามตั้งแต่ปลายปีก่อน คาดว่าต่อเนื่องจนถึงสิงหาคม 2562
         แม้เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน 2562 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาก็ดี และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ก็ดี พยากรณ์ทิศทางเดียวกันว่า ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ 5-10% แต่พอเอาเข้าจริง ครี่งแรกของฤดูมีปริมาณฝนน้อยลงมากถึง 30-40% การจะเอาปริมาณฝนครึ่งหลังของฤดูมาตีตื้นทั้งรอบฤดูไม่ง่ายเลย
         ปริมาณฝนน้อยมาก บวกกับดึงการใช้น้ำในเขื่อนมากขึ้น ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่งจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

 

         ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ปริมาณน้ำแทบไม่ไหลลงเขื่อน แต่ต้องระบายน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยรักษาระบบนิเวศและพื้นที่เพาะปลูกวันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับน้ำใช้การ 1,200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรที่มีอยู่ จะใช้ได้ประมาณ 30 วันเท่านั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด เพราะไม่อาจคะเนได้แน่ชัดเพียงใดว่า เดือนสิงหาคมหรืออีก 30 วันข้างหน้า ปริมาณฝนจะเป็นเช่นไร
         สทนช. จึงประชุมหารือด่วนกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสียใหม่ โดยมุ่งรักษาปริมาณน้ำในเขื่อนเป็นสำคัญสำหรับความต้องการทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการรักษาระบบนิเวศ
         ทั้งนี้เอาความต้องการน้ำสุทธิในครึ่งหลังของฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) 2,066 ล้าน ลบ.ม. เป็นตัวตั้ง แล้วรวมไปจนถึงฤดูแล้ง 2562/2563 และต้นฤดูฝน 2563 จะต้องมีน้ำสำรองใช้รวมเบ็ดเสร็จ 5,000 ล้าน ลบ.ม.
         จะทำอย่างนั้นได้ ต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้นหลายประการ อาทิ ประหยัดการใช้น้ำในครึ่งหลังของฤดูฝน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยลดการระบายจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ โดยให้การประปานครหลวงที่เคยใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลิตน้ำประปาไปใช้แหล่งน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์หรือจากแม่น้ำแม่กลองแทน จากปัจจุบันระบายลงมาเฉลี่ย 45 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เหลือเพียง 20 และท้ายสุดไม่ถึง 10 ล้าน ลบ.ม./วัน


         นอกจากนั้น อาจต้องยอมให้พื้นที่เพาะปลูกท้ายเขื่อนเสียหายเพราะไม่มีน้ำส่งให้ หากโชคไม่เข้าข้างไม่มีฝนตกตามที่คาดการณ์ โดยรัฐบาลชดเชยเป็นกรณีๆ ไป และรวมถึงการวางแผนปลูกพืชฤดูแล้งหน้า ต้องมีความชัดเจนทั้งขอบเขตปลูก พืชที่ปลูก และระบุแหล่งน้ำ ขอบเขตการส่งน้ำ เป็นการเข้มการใช้น้ำอย่างจริงจัง เพื่อความอยู่รอดของทุกฝ่าย
         "สทนช. ติดตามตรวจสอบการคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำระบาย ทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการส่งน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเป็นรายวัน ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมมาแล้ว และต่อเนื่องไปจนถึง 31 ตุลาคม เพื่อปรับแผนสมดุลน้ำให้เหมาะสมกับสภาพการณ์จริง" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
         การบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงถึงเวลาที่ต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง และทำให้เป็นแม่แบบสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น เพื่อไม่ให้เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
         เดินหมากบริหารจัดการน้ำผิดตาเดียว เสียหายใหญ่ไปทั้งกระดาน ไม่คุ้มเลย