อีสานยังลุ้นระทึก! โขงเหือด-น้ำต้นทุนน้อย-ฝนล่า

    ม่น้ำโขง ที่เคยยิ่งใหญ่ตอนนี้หดแห้งเหลือสภาพเล็กน้อยคล้ายร่องน้ำคดเคี้ยวทอดยาวตลอดแนวชายแดน 1 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.เชียงราย 7 จังหวัดอีสาน ตั้งแต่ จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ...เป็นปรากฏการณ์เหลือเชื่อกลางฤดูฝนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

     หนึ่ง จีนลดการปล่อยน้ำ ซ่อมระบบสายส่งของเขื่อนจิ่งหง (เชียงรุ้ง) 1 ใน 6 เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างปิดกั้นน้ำแม่น้ำหลานซางในภาษาจีนหรือล้านช้าง หรือแม่น้ำโขง บริเวณสิบสองพันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเขื่อนสุดท้ายก่อนไหลลง สปป.ลาว และพม่า ปริมาณน้ำที่เคยระบายลงท้ายเขื่อนก็ลดน้อยมาก ไม่ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

     สอง เขื่อนไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ที่ก่อสร้างปิดลำน้ำโขงเพิ่งแล้วเสร็จ  อยู่ระหว่างทดสอบระบบการผลิตไฟฟ้า ต้องลดการระบายเพื่อยกระดับน้ำสูงขึ้นสำหรับปั่นกระแสไฟฟ้า

     สาม ปริมาณฝนในแถบลุ่มน้ำโขงมีน้อย ส่งผลให้น้ำจากลำน้ำสาขาที่จะลงไปเติมแม่น้ำโขงพลอยน้อยลงด้วย มากกว่าครึ่งที่เคยตก

     “เป็นการประจวบกันของเหตุทั้ง 3 ประการดังกล่าว ทำให้จังหวัดชายแดนอีสานประสบปัญหาระดับน้ำโขงลดต่ำลงมาก มีลักษณะเหือดแห้งอย่างที่เห็น”เลขาธิการ สทนช. กล่าว

     จริงๆ แล้วก่อนจีนลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงได้แจ้งมายัง สทนช. ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมแล้ว สทนช.แจ้งต่อไปยัง 8 จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขงให้รับทราบและเตรียมรับสถานการณ์ แต่เมื่อมาเจอ สปป. ลาว ลดบานประตูเขื่อนไซยะบุรีด้วย ทำให้ระดับน้ำแม่โขงลดระดับอย่างรวดเร็ว”

     สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน ปรากฏว่า แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง และแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างหนองหาร มีปริมาณน้ำรวม 2,743 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 32% ของความจุรวม 8,635 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยมีถึง 8 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ

     “ตอนนี้กรมอุตุฯ แจ้งการเปลี่ยนแปลงของฝน จากเดิมปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นสิงหาคม เวลานี้ขยับเป็นกลางเดือนสิงหาคม กว่าฝนจะมา ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์น้ำมากขึ้น”

     แนวทางของ สทนช. คือเร่งให้กรมการฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการทำฝนหลวงมากขึ้น เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะเติมน้ำลงในแหล่งน้ำได้ เพราะกว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพาดผ่านนำฝนมาก็ต้องรอถึงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์ความแห้งแล้งที่แผ่วงกว้างขึ้น

     ขณะเดียวกัน สทนช.ยังประสานหน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลนในพื้นที่ต่างๆ โดยดึงน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ขุมเหมืองเก่า ตลอดจนการขุดเจาะน้ำบาดาล

    “ในอนาคต การประปาส่วนภูมิภาค จำเป็นต้องวางแผนหาแหล่งน้ำสำรองมากขึ้น แทนการพึ่งพาแหล่งน้ำชลประทานเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ลดความเสี่ยงของน้ำอุปโภคบริโภคไปในตัว”ดร.สมเกียรติกล่าว

     อันที่จริง สถานการณ์น้ำในภาคอีสานเป็นไปอย่างที่ สนทช.คาดการณ์มาแต่ต้นแล้วว่า จะเผชิญปัญหาน้ำต้นทุนน้อย เพราะระดับน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางปริ่มมาตั้งแต่สิ้นฤดูแล้ง สถานการณ์น้ำกลางฤดู จึงต้องเฝ้ารอด้วยใจระทึกและภาวนาให้ฝนมาเร็วๆ เพื่อช่วยประทังทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำสำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้ว