"อนุทิน" รับมอบแล้ว น้ำมันกัญชาล็อตแรกจากองค์การเภสัชฯ

         เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าว "การส่งมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ล็อตแรก สู่ระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและโครงการวิจัย" ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
         นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ล็อตแรก จากองค์การเภสัชกรรม แบบหยดใต้ลิ้น ชนิด THC สูงขนาด 5 ml จำนวน 4,500 ขวด ซึ่งจะทยอยส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ สุขภาพละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง และผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท ได้แก่ การศึกษาวิจัย และการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล เข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และใช้ในการควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็ง และจะได้รับเพิ่มอีก 2,000 ขวด เป็นชนิด CBD สูง ขนาด 10 ml จำนวน 500 ขวด และชนิด THC : CBD (1:1) ขนาด 5 ml จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็นทั้งสิ้น 6,500 ขวดภายในเดือนสิงหาคมนี้


         "การดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสารสกัดน้ำกัญชา 1 ล้านขวด ภายใน 5-6 เดือนนี้ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะทยอยผลิตสารสกัดกัญชาสำหรับใช้บรรเทาและรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ออกมาอย่างต่อเนื่อง 200,000 ขวดต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมและสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น" รมว.สาธารณสุข กล่าว

 

         ด้าน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาการใช้กัญชาทางการแพทย์ เตรียมระบบบริการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย โดยจัดตั้งคลินิกผสมผสานแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง ให้บริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถสั่งจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ดูแลให้คำปรึกษาหลังการใช้ ติดตามผลลัพธ์ผลกระทบข้างเคียงทั้งทางกาย จิต และการใช้สารเสพติดผิดวิธี จัดหาสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอ ตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ เพื่อควบคุมคุณภาพและทราบปริมาณสาร ให้ความรู้ อสม. บุคลากรสาธารณสุข เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน


         สำหรับน้ำมันกัญชาชนิด THC สูงที่ได้รับจำนวน 3,900 ขวดจะกระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ระยอง รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บุรีรัมย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในเดือนกันยายน จะได้เริ่มกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย ผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่งครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ รพร.เด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ภาคกลางที่รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ภาคใต้ที่รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
         นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาล็อตแรก จำนวน 600 ขวด ที่กรมการแพทย์ได้รับเป็นชนิด THC สูง จะนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง 100 ขวด เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน อีก 500 ขวด จะนำไปศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลอง รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง สำหรับน้ำมันกัญชาชนิดที่มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD 1 : 1 และ CBD สูงที่จะได้รับนั้น จะมอบให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย และการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว บางส่วนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยา สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) และอภ.


         ทั้งนี้ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล / สถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์แล้ว อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี สถาบันทันตกรรม เป็นต้น และจะครบ 32 แห่งกลางเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชนปรึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังพิษจากกัญชาได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำ official line ให้คำปรึกษาระหว่างสถานบริการสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการทางจิตจากกัญชา