“ท่าโบสถ์”ต้นแบบจัดรูปที่ดิน3มิติ/ตัวช่วยดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

 

       ารสร้างความรู้ความเข้าใจงานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสำหรับเกษตรกร ไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้นจะพาเกษตรกรยกขบวนไปดูงานพื้นที่ที่จัดรูปที่ดินแล้ว ก็ทำได้อย่างจำกัดไม่ทั่วถึงและมีค่าใช้จ่ายสูงตามมา 

        สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน จึงมีแนวคิดจัดทำโมเดลพื้นที่จัดรูปที่ดินเสมือนจริง เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เกษตรกรเห็นแล้ว ร้องอ๋อ เข้าใจได้ในทันที

        โมเดลเสมือนจริงนี้ มีรายละเอียดรูปแปลงที่ดินของเกษตรกรแต่ละราย รูปคลองส่งน้ำ คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ประตูน้ำ ถนนหรือเส้นทางลำเลียง  ที่สำคัญจำลองให้มีน้ำชลประทานไหลผ่านให้เห็นจะจะ จากคลองไหน ไปทางไหน ไปอย่างไร จึงจะถึงแปลงเพาะปลูกได้ทั่วถึง ฯลฯ

        ไหนๆ ก็ไหนๆ เอาพื้นที่จัดรูปจริงมาจำลองแบบ 3 มิติเสียเลย

         หวยไปออกที่พื้นที่จัดรูปที่ดินในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำที่ 26 จ.สุพรรณบุรี

        โครงการจัดรูปที่ดินแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี  เป็นรูปแบบพัฒนาสมบูรณ์แบบ (Intensive Development) จำนวน 10,600 ไร่ แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยนำส่วนที่ 1 และ 2 ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จมาเป็นตัวแบบจำลองเสมือนจริง พื้นที่จัดรูปที่ดินส่วนที่ 1 และ 2 มีพื้นที่ 1,840 ไร่ และ 2,095 ไร่ ตามลำดับ

        การจัดรูปที่ดินแบบสมบูรณ์แบบ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ คูส่งน้ำที่รับน้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ซึ่งเป็นคลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าแปลงทุกแปลง และมีคูระบายน้ำท้ายแปลงทุกแปลงเช่นกัน หน้าแปลงนอกจากติดคูส่งน้ำแล้ว ยังมีถนนหรือเส้นทางลำเลียงผ่านทุกแปลงด้วย สำหรับรถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถอีแต๋น เคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและผลผลิต ไม่ว่าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกล และข้าวเปลือก เปรียบเทียบได้กับที่ดินจัดสรรหรือบ้านจัดสรร สะดวกสบายยังไงก็ยังงั้นเลย

        ผลลัพธ์จากการจัดรูปที่ดินนั้น นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำจากเดิมสูบน้ำจากคลองผ่านแปลงคนอื่นก็ลดปัญหาการผ่านแปลง เกษตรกรรับน้ำได้ทั่วถึง แทนของเดิมที่ต้นคลองดึงน้ำไปใช้จนไม่ถึงปลายคลอง เป็นการลดข้อขัดแย้งในตัว พร้อมๆ กับลดค่าใช้จ่ายสูบน้ำ จากเดิมไร่ละ 287 บาท เหลือไร่ละ 77 บาท ผลผลิตดีขึ้นเพราะได้น้ำสม่ำเสมอมากกว่าไร่ละ 800 กิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา และยังสะดวกในการเข้าถึงแปลงตัวเองจากถนนหรือเส้นทางลำเลียง เช่นเดียวกับเวลาระบายน้ำผ่านคูระบายท้ายแปลง

        ใครเป็นเกษตรกรเห็นโมเดลจำลองเสมือนจริง 3 มิตินี้เข้า ล้วนอยากเข้าร่วมโครงการจัดรูปที่ดินทั้งนั้น แม้จะต้องเสียที่ดินไม่เกิน 7% เป็นที่ดินส่วนกลาง สำหรับก่อสร้างเส้นทางลำเลียง คูส่งน้ำและคูระบายน้ำ และยังร่วมลงขันร่วมด้วยตามกติกาไม่เกิน 20% ของงบก่อสร้าง ซึ่งสามารถแบ่งชำระได้ พอจัดรูปที่ดินเสร็จรับโฉนดที่ดินจากกรมที่ดิน

        ลองนึกภาพอีกว่า แปลงที่นาเหล่านี้ พอมีคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ มีถนนเข้าถึง ราคาที่ดินจะพุ่งทะยานกี่เท่าตัว

        เท่าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเคยเข้าไปสำรวจความพึงพอใจของเกษตรกร นอกเหนือจากระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาผ่านคูส่งน้ำ สะดวกในการเพาะปลูกแล้ว เกษตรกรชอบถนนหรือเส้นทางลำเลียงมาก ทำให้ก้าวข้ามกับดักที่นาตาบอดได้โดยสิ้นเชิง สะดวกแล้ว ยังเป็นอิสระไม่ต้องงอนง้อขอใครผ่านน้ำ ผ่านทางอีกต่อไป

        สำหรับสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง โมเดลนี้จะสื่อความหมายถึงระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาที่รับน้ำจากต้นน้ำคือแม่น้ำเจ้าพระยา  กลางน้ำคือคลองส่งน้ำสายต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ยังขาดกลไกสำคัญปลายน้ำคือการจัดรูปที่ดิน ที่มีคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและถนนเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการส่งน้ำถึงแปลงเพาะปลูกได้ทั่วถึงจริงๆ

        ลำพังคลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย สายแยกซอย ยังไม่ตอบโจทย์การแพร่กระจายน้ำในแปลงนาได้อย่างสมบูรณ์ จนกว่าจะมีงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ส่งน้ำนั้น

       โมเดลจำลองพื้นที่จัดรูปเสมือนจริงนี้ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเพิ่งจัดทำเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ และจะนำไปใช้แสดงในโอกาสต่างๆ เช่น เวลาผู้บริหารกรมชลประทานมีงานสัญจรในพื้นที่ไหน หรือในกรณีพื้นที่ใดวางแผนจัดรูปที่ดินต้องการสื่อสารกับเกษตรกร ก็หยิบยกโมเดลนี้ไปแสดง ซึ่งไม่ยากที่จะเข้าใจ  เพราะพื้นที่ชลประทานมีองค์ประกอบคล้ายคลึงอยู่แล้วในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

       อยากดูโมเดลนี้เข้าไปที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ชั้น 10 กรมชลประทาน สามเสน ตั้งอยู่หน้าลิฟท์เลย  ถ้าจะให้มีชีวิตชีวาเห็นน้ำไหลผ่านแปลง ติดต่อขอให้เจ้าหน้าที่เปิดให้ได้ชมกันตรงนั้นเลย