"รมช.ประภัตร" ปลื้ม ต่างชาติสนใจถั่วเขียวในไทย

         นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนา Agri Forum 2019 เกษตรปลอดการเผา ภายใต้แนวคิด "The World of Unburnt Farm" จัดโดย บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร


         โดย รมช.เกษตรฯ ระบุว่า ประเทศไทยเคยประสบกับปัญหาวิกฤติฝุ่น pm 2.5 เมื่อช่วงต้นปี 2561 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาพืชไร่ อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แต่ขณะนี้ปริมาณการเผาลดลงไปมาก เนื่องจากพืชทางการเกษตรสามารถนำมาขายเพิ่มมูลค่าได้ เช่น ฟางข้าวอัดก้อน  33 บาท และใบอ้อย 1,000 บาท/ตัน  อย่างไรก็ตามบริเวณภาคเหนือบนดอยยังมีการเผาอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาลดการเผาให้น้อยลง คือ การปลูกพืชทดแทน ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจถั่วเขียวจำนวนมาก เนื่องจากชาวอเมริกันเริ่มไม่นิยมกินเนื้อสัตว์แต่หันมาบริโภคโปรตีนจากถั่วแทน

 

         ดังนั้นจึงเป็นการนำหลักแนวคิดตลาดนำการผลิตมาใช้ เบื้องต้นได้เจรจาพร้อมที่จะรับซื้อ 1 แสนตัน ใน 1 ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรยังขาดเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะปลูก ทางผู้ประกอบการยินดีที่สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้ ซึ่งวันนี้ทางกรมวิชาการเกษตรจะมีการประชุมเพื่อสรุปการตกลงซื้อขายปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์อีกครั้ง


         "ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อย 10 ล้านไร่ ข้าว 40 ล้านไร่ โดยถั่วเขียวเป็นพืชที่ปลูกได้ทั้งปี เพราะใช้น้ำน้อย เดิมไม่มีตลาดรับซื้อ แต่วันนี้มีผู้ประกอบการต่างประเทศสนใจเข้ามารับซื้อความต้องการ 5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 แสนตันต่อปี จึงควรจะพัฒนาให้เกิดเป็นแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงิน 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 5 ปี วิธีเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกแบบเดิมได้ ราคาสินค้าก็ดีขึ้น การปลูกอ้อย ข้าว ก็ลดพื้นที่ลง การเผาไหม้ก็หมดไป หากเราผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาดได้ ซึ่งก็มีเงื่อนไขการรับซื้อ คือ  ดินต้องมีคุณภาพดี ซึ่งต่างชาติให้ความเชื่อมั่นดินในประเทศไทย เนื่องจากพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นจอมปราชญ์แห่งดิน อีกทั้งวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ยังเป็นวันดินโลกอีกด้วยนั้น จึงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก" นายประภัตร กล่าว