"ไข่ของพระอาทิตย์"มะม่วงญี่ปุ่นแพงสุดในโลก/ผลสำเร็จจากความพยายามทะลุมิติดิน ฟ้า อากาศ

 

         ากเอ่ยถึงผลไม้ที่มีราคาแพงในยุคนี้หลายคนอาจจะจินตนาการไปถึงไม้ผลหลายๆชนิด ทว่า หนึ่งนั้นต้องมีมะม่วงผลสีแดงของญี่ปุ่นที่ชื่อ ไทโยโนะทามาโงะ (太陽のタマゴ) แห่งจังหวัดมิยาซากิ ความหมายว่า ไข่ของพระอาทิตย์ มีความหวานวัดได้มากกว่า 18 องศาบริกซ์ เนื้อที่ไร้เสี้ยน รสหวานฉ่ำติดลิ้น สีสันภายนอกอันสวยงาม มันจึงเป็นของฝากอันล้ำค่าซึ่งบริษัทใหญ่ๆในญี่ปุ่น นิยมหาซื้อเพื่อให้สำหรับแทนคำขอบคุณ ถือเป็นผลไม้ชั้นสูงที่มักปรากฏในร้านค้า หรือภัตตราคารอาหารที่มีราคาแพงและมีชื่อเสียงของประเทศ

          ทาเกะ อากิระ หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรไม้ผลแห่ง JAไซโตะ คือผู้ที่นำมะม่วงสีแดงอันโด่งดังมาปลูกยังจังหวัดมิยาซากิ ราวปี ค.ศ.1984 หลังจากเขาได้มีโอกาสไปดูงานยังเกาะโอกินาว่า และสัมผัสกับมะม่วงพันธุ์นี้ซึ่งนำต้นพันธุ์มาจากไต้หวันในชื่อ อ้ายเหวิน หรือ เออหวิน เขาสนใจมากจึงนำมาเพาะปลูกที่จังหวัดมิยาซากิ ทว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศของจังหวัดนี้ที่อยู่ตอนกลางของประเทศมีฤดูหนาวที่โหดร้ายต่างจากจังหวัดโอกินาว่าที่อยู่ทางตอนไต้อันเป็นเขตอบอุ่น ทำให้การเพาะปลูกเป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้ง เกษตรกรชาวญี่ปุ่นเองยังไม่คุ้นเคยกับการปลูกมะม่วงจึงทำให้ต้องมีการทดลองผิดๆ ถูกๆ อยู่หลายปี กระทั่งพบวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม

          นั่นคือ การสร้างโรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกทั้งหลัง และปรับสภาพแวดล้อมภายในให้มีอุณหภูมิราว 25-28 องศา ในฤดูหนาวต้องใช้เครื่องทำความร้อน (ฮีทเตอร์) ควบคุม ส่วนการให้น้ำและปุ๋ย จะเป็นระบบท่อที่เดินสายไปทั่วทั้งโรงเรือน มีการนำเทคนิกบอนไซมาใช้โดยการตัดแต่งทรงต้นให้อยู่ในลักษณะพุ่มเตี้ยสูงไม่เกิน 2 เมตร พร้อมกับใช้เหล็กแข็งและเชือกตรึงกิ่งให้ขนานไปกับพื้นจนเป็นทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่งทุกปีภายหลังเก็บเกี่ยว บางพื้นที่ใช้เทคนิคการยกระดับกระถางหรือปลูกลงไปในถุงดำขนาดใหญ่และปล่อยให้ทรงต้นลอยห่างจากพื้น เพื่อไม่ให้รากหยั่งลงไปในพื้นดินด้านล่างโรงเรือน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดอาจทำให้มะม่วงยืนต้นตายได้ อีกทั้ง เมื่องอกงามดีแล้วผล ผลิตที่ได้ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ หรือจากเมืองโอกินาว่าได้ เกษตรกรจังหวัดมิยาซากิ จึงเล็งเห็นและมีแนวคิดสอดคล้องกันว่ามะม่วงจะอร่อยที่สุด ต่อเมื่อมันสุกและร่วงเองจากต้นโดยธรรมชาติ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า คังจูคุ

          เพื่อสร้างผลผลิตที่เป็น คังจูคุ 100% เกษตรกรมิยาซากิจึงคิดค้นวิธีนี้ขึ้น นั่นคือ การยึดผลมะม่วงด้วยเชือกหรือลวดเพื่อให้ได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ และหุ้มผลด้วยตาข่าย เมื่อมะม่วงเริ่มติดดอก เกษตรกรจะใช้เชือกดึงช่อดอกให้ชูขึ้น โดยมีเหตุผลว่า ช่อดอกที่ได้รับแสงเต็มที่จะให้ผลที่แข็งแรง และเมื่อเริ่มติดผลเกษตรกรจะเดินตรวจตราทั่วทั้งโรงเรือนและทำการตัดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ก้านดอก 1 ช่อ จะยอมให้ติดผลได้สูงสุดเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลขนาดใหญ่ กระทั่ง เริ่มสุกสีผลจะเป็นสีแดงอมส้ม ช่วงนี้เกษตรกรจะนำตาข่ายมาหุ้มผลไว้ พอผลแก่งอมมันจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด และร่วงลงในตาข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ เกษตรกรจะเดินเก็บ ก่อนนำส่งเข้ากระบวนการคัดไซต์ต่อไป

         การคัดไซต์และน้ำหนัก ที่นี่ให้ความสำคัญว่า มะม่วงที่จะจำหน่ายต้องมีความหวานไม่น้อยกว่า 18 องศาบริกซ์ มีน้ำหนักกว่า 350 กรัมต่อผล หลังผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มข้น มะม่วงชุดแรกแห่งจังหวัดนี้ก็พร้อมจำหน่าย ด้วยประทับตราและบรรจุลงกล่อง ภายไต้แบรนด์สินค้าชื่อ ไทโยโนะทามาโง 

         ปัจจุบันผลิตผลมะม่วง ไข่ของพระอาทิตย์ แห่งจังหวัดมิยาซากิ มีราคาสูงลิบลิ่วเมื่อเทียบกับมะม่วงนำเข้า หรือผลผลิตในประเทศของจังหวัดอื่นๆ ว่ากันว่าต่อผลคิดเป็นเงินบาทของบ้านเราเกือบๆ 500 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการ เทคนิคอันซับซ้อนรวมไปถึงการทุ่มแรงกายแรงใจของเกษตรกรเมืองนี้ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ สีสันสวยงาม ระดับความหวานคงที่ ฯลฯ ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ซึ่งมันก็คุ้มค่า เพราะทุกวันนี้มะม่วง ไทโยโนะทามาโงะ เป็นที่รู้จักและถูกจับตามองไปทั่วโลกแล้วนั่นเอง

        ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : http://mango-fruits.com/saibai, http://macaro-ni.jp/31142, www.machi-ichi.jp/blog/item_84.html, www.osaka-chusei.co.jp/kisyou3-4.html , https://ninesuan.blogspot.com/2016/10/blog-post_29.html