แผนแม่บท 20 ปีเวอร์ชั่นใหม่/ให้ภาพชัดจัดการน้ำประเทศ

แผนแม่บท 20 ปีเวอร์ชั่นใหม่/ให้ภาพชัดจัดการน้ำประเทศ

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

    รับรู้กันอยู่ว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 เสาหลัก 

     หลักที่ 1 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 19 ธันวาคม 2561 

     หลักที่ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บทฯ อย่างมีเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีกว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง และ

     หลักที่ 3 พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 

     “ทั้ง 3 เสาหลักมีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว ทำให้เค้าโครงการบริหารจัดการน้ำชัดเจนขึ้น มีแผน มีองค์กรกำกับ และมีกฎหมายบังคับใช้”ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว

      ทว่า แผนแม่บทน้ำ 20 ปีดังกล่าว ถือเป็นฉบับเบื้องต้น สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. จึงได้ปรับปรุงและทบทวนร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นการยึดโยงซึ่งกันและกันภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

    แผนฯฉบับปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย 6 ด้านหลัก เช่นเดียวกับแผนฯ 12 ปีเดิม ได้แก่ 

     1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6) การบริหารจัดการ

      “ครม.เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบแผนแม่บทน้ำ 20 ปีฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”เลขาธิการ สทนช. กล่าว

      พร้อมกันนั้น สทนช. ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเสาหลักที่ 4  คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่เป้าหมาย ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ

     “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

      ชัดเจนกว่านั้น น่าจะเป็นสาระสำคัญในแผนฯใหม่ มีตัวกำหนดที่มีนัยสำคัญ ประกอบด้วย

      1.กำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิตเพิ่มเติม 

      2.เพิ่มกลยุทธ์/วิธีการ ให้ครอบคลุมหน่วยงานมากขึ้น เช่น เพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับน้ำอุปโภค-บริโภค ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น

      3.กำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน ไม่จำเพาะเพียงหน่วยงานราชการเท่านั้น หากยังมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เป็นความใหม่ที่ไม่เคยมี

      4.กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) จำนวน 66 พื้นที่ 34.62 ล้านไร่ เป็นเป้าหมายที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัด เหมือนการสแกนพื้นที่มีปัญหาและศึกษาหาแนวทางแก้ไข

      ถ้าพูดถึงแผนอย่างเดียวคงไม่เห็นเป้าหมายรูปธรรม ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี มีตัวเป้าหมายหลายอย่าง อาทิ ยกระดับคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค ทุกหมู่บ้านเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้มาตรฐานในราคาเหมาะสม 75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573,พัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้าน ลบ.ม.,เพี่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่,พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำสำรองให้เป็นรูปธรรม,ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ 764 แห่ง,ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่,ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ,พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง,ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่,ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง

      “สทนช.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการอำนวยการ ประสาน กำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ร่วมกับ 3 กระทรวงเกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561”ดร.สมเกียรติ กล่าว

      เป็นความชัดเจนทั้งบทบาทหน่วยงานกลางอย่าง สทนช. การดำเนินการโดยการมีส่วนร่วม และเป้าหมายการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรม