เปิดแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ-ใต้ ปี 62

         นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุม 134 - 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สถานการณ์ไม้ผลภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2562 มีปริมาณผลผลิต จำนวน 624,321 ตัน แบ่งเป็น ลำไยในฤดู 341,028 ตัน ลำไยนอกฤดู 283,293 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 675,549 ตัน ลดลง 7.5% เนื่องจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศเกิดฝนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ อากาศร้อน เกิดพายุร้อนและวาตภัย ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) ในเดือน ส.ค. ส่วนลิ้นจี่ ปี 2562 มีปริมาณผลผลิต จำนวน 26,278 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 41,220 ตัน ลดลง 36.25% เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด แห้งแล้ง เกษตรกรลดการดูแลรักษาเพราะราคาไม่จูงใจ ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือน พ.ค.


         สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2562 ทุเรียน มีปริมาณผลผลิต จำนวน 445,220 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 304,267 ตัน เพิ่มขึ้น 46.33% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาดูแลผลผลิตดีขึ้น ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือน ส.ค. มังคุด มีปริมาณผลผลิต จำนวน 156,118 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 110,364 ตัน เพิ่มขึ้น 41.46% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือน ก.ค. - ส.ค. เงาะ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 69,371 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 71,884 ตัน ลดลง 3.5% สาเหตุจากอากาศร้อนจัดและน้ำไม่เพียงพอในช่วงเดือนเมษายนส่งผลให้ดอกร่วง ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือน ส.ค. - ก.ย. และลองกอง มีปริมาณผลผลิต จำนวน 67,687 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 42,870 ตัน เพิ่มขึ้น 57.89% เนื่องจากมีช่วงแล้งเหมาะสมกับการส่งออก และต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกเพิ่มขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือน ก.ย. - ต.ค.


         ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 โดยผลไม้ภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย เน้นบริหารจัดการลำไยในฤดู ปริมาณ 341,028 ตัน แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้เน้นผลผลิตในฤดู รวม 580,401 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน จำนวน 366,938 ตัน มังคุด จำนวน 145,025 ตัน เงาะ จำนวน 68,438 ตัน โดยการบริหารจัดการเชิงปริมาณเน้นการกระจายผลผลิตในประเทศ แปรรูป และส่งออก ส่วนการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรดูแลผลผลิตแต่ละระยะ ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และหลังเก็บเกี่ยว มุ่งเน้นการรวมกลุ่มผู้ผลิต การพัฒนาคุณภาพผลผลิตไม้ผลสู่มาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง GAP โดยเฉพาะทุเรียนต้องเร่งป้องปรามผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด การกำหนดมาตรการ ควบคุมทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต การพัฒนาล้ง/จุดรับซื้อให้ได้มาตรฐาน GMP เป็นต้น