เล็งเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศ

         กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักการเกษตรต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ร่วมประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทย "The Legend of Thai Silk" ภายใต้โครงการเจรจาความร่วมมือจัดทำพิพิธภัณฑ์หม่อนไหมและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไหมไทยและผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน โดยกรมหม่อนไหมได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผ้าไหมไทย ณ Textile museum, George Washington University พร้อมกับพบปะหารือ Mr. John Wetenhall ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความร่วมมือในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมไทยและประชาสัมพันธ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานพร้อมเตรียมขยายผลผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ และเล็งแนวโน้มจัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมสนองนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


         นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า จากการเดินทางไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักการเกษตรต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันได้ร่วมประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยในหัวข้อ "The Legend of Thai Silk" ภายใต้โครงการเจรจาความร่วมมือจัดทำพิพิธภัณฑ์หม่อนไหมและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไหมไทยและผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน โดยกรมหม่อนไหมได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผ้าไหมไทย ณ Textile museum, George Washington University ซึ่งนิทรรศการของกรมหม่อนไหมก็ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

 

         พร้อมกันนั้นก็ได้ร่วมบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาผ้าไหมไทย การส่งเสริมให้เกษตรกรไทยประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการที่จะอนุรักษ์เผยแพร่คุณค่าความงดงามของผ้าไหมไทยให้ชาวโลกได้รับรู้รวมถึงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทานทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ สีทองสีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียว ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผ้าไหมไทยที่แสดงว่าจะต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ย้อมสีเนื้อผ้าที่มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลาย เนื้อผ้า และสีไม่ตก เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพผ้าไหมไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ว่าผ้าไหมไทยที่ผ่านการับรองรองตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทานนั้น ผู้บริโภคจะมั่นใจได้ว่าผ้าไหมไทยชิ้นนั้นมีโครงสร้างผ้าที่ถูกต้อง ถูกชนิด และสีไม่ตก


         ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมและเจ้าหน้าที่สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมประชุมหารือกับ ดร.พอล ไมเคิลเทย์เลอร์ ผู้อำนวยการ โครงการประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์วิทยาแห่งเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง สถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือความเป็นไปได้ในการทำงานวิจัยร่วมกันในประเด็นวัฒนธรรมภูมิปัญญา เกี่ยวกับผ้าไหม ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยหอสมุดรัฐสภามีบันทึกรายการสิ่งของที่นำมาแสดงในงานแสดงสินค้า ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี ค.ศ. 1876 ซึ่งเป็นรายการของที่ระลึกและมีการแลกเปลี่ยนร่วมมือทางวัฒนธรรม ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่น ผ้าไหม อุปกรณ์การทอผ้า อุปกรณ์การสาวไหม และรังไหม


         นอกจากนี้ทางคณะยังได้เข้าพบปะหารือ Mr. John Wetenhallผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพูดคุยถึงความร่วมมือในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยที่ได้รับรองตรานกยูงพระราชทานให้ต่างประเทศได้ทราบถึงที่มาที่ไป และความโดดเด่นในเรื่องของภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมของคนไทยให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่น่าสนใจเพราะหากประเทศไทยจะเดินหน้าทำตลาดให้กับสินค้าสิ่งทอโดยเฉพาะผ้าไหม ตลาดต่างประเทศถือเป็นตลาดพรีเมียมที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอไหมไทยได้ และหากมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคที่ถูกต้องก็จะส่งผลให้ตลาดต่างประเทศเกิดการยอมรับ นับเป็นการเปิดตลาดที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง