กรมฝนหลวงฯ เร่งปรับแผนทำฝนรายพื้นที่

         เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า แผนปฏิบัติการฝนหลวงวันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งมีอยู่ 8 จังหวัด (รวม 30 อำเภอ 124 ตำบล 1,023 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย สุโขทัย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี ลดลงจากเดิม 1 จังหวัด คือจังหวัดพิจิตร ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 168 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 แห่ง คาดว่าฝนที่ตกยังไม่ครอบคลุมบริเวณอ่างเก็บน้ำได้อย่างทั่วถึง โดยขณะนี้แม้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ฝนตกไม่กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ทำแผนที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่


         ด้านการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา จาก 7 หน่วยปฏิบัติการได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สระแก้ว สุราษฏร์ธานีและสงขลา ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา พัทลุง และสงขลา เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน และเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช


         นายสุรสีห์ เผยด้วยว่า ได้รายงานแผนปฏิบัติการฝนหลวง ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการในการคลี่คลายสถานการณ์ ภัยแล้ง และการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ทำการรายงานการปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯ ให้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องโดยตลอด จึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน และขอให้การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงฯ ในการช่วยเหลือประชาชนในแต่ละภารกิจให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี