ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกัน ภายใต้การจัดการน้ำของประเทศ

ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกัน
ภายใต้การจัดการน้ำของประเทศ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล


         ก่อนการถือกำเนิดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่มีหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำกว่า 40 หน่วย และดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ
         เชื่อไหมว่า มีคนหลายคนปรามาส สทนช. จะไปได้กี่น้ำ
         เพราะที่ผ่านมา องค์กรแบบ สทนช. ที่ขึ้นรูปแล้วและกำลังจะขึ้นรูป ก็มีอันล่มสลายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว
         คำปรามาสนี้ไม่เกินจริง หากว่ารัฐบาลไม่มีอีก 2 เสาหลักคือ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของชาติ และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ออกแบบให้ สทนช. ทำงานได้เต็มที่ พร้อมดาบอาญาสิทธิ์ในมือ
         อีกปัจจัยหนึ่งคือการเมืองภายใต้ คสช. เท่านั้นที่ช่วยเติมฝันให้เป็นจริง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่คลอดออกมาได้เร็ว หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง นอกจากคลอดได้ยากแล้ว เนื้อหาสาระอาจเพี้ยนพิการจากการต่อรองของกลุ่มอำนาจต่างๆ จน สทนช. เป็นได้แค่องค์กรเสือกระดาษไม่ผิดจากคำปรามาสเช่นกัน


         สทนช. ที่มีคนหยิบมือเดียว จึงมีคนเพิ่มเป็นร้อย มีคนอยากทำงานด้วย มีการจัดองค์กรใหม่ครอบคลุมภารกิจยุทธศาสตร์น้ำในชั่วอึดใจ หลัง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ต้นปี 2562 นี้เอง
         จะเรียกนวัตกรรมหรือมาตรการใหม่ๆ ทะยอยออกมาตลอดเวลา ทำให้เห็นภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเหมือนภาพจิ๊กซอว์ สร้างความหวังให้ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
         เป็นทิศทางใหม่ควบคู่กับวิธีคิดใหม่ และมาตรการใหม่ เป็นต้นว่า
         การสร้างฐานข้อมูลแหล่งน้ำ การจัดทำบัญชีน้ำ การจัดทำผังน้ำ การปรับปรุงลุ่มน้ำหลักใหม่ การกำหนดนิยามขนาดแหล่งน้ำใหม่ให้เป็นหนึ่งเดียว การปฏิรูปเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน การจัดระเบียบการเสนอแผนงานโครงการและงบประมาณ ตลอดจนการตรวจสอบประเมินผลโครงการ เพื่อคุมตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางไม่ให้แตกแถวและซ้ำซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นการบริหารจัดการน้ำของประเทศก็ล่ม ฯลฯ
         ดูแล้วน่าเหนื่อย แต่ถ้าเหนื่อยเพื่ออนาคตที่ชัดเจนและดีกว่าในวันข้างหน้า การเหนื่อยนี้ก็เกินคุ้มค่า
    อย่างน้อยวันนี้ นายกรัฐมนตรีก็ดี รัฐบาลก็ดี ไม่ต้องมาปวดหัวกับการจับปูใส่กระด้ง ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเสนอแผนงานโครงการและงบประมาณโดยไม่ประสานกัน บางทีซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง และประโยชน์ไม่คุ้มการลงทุน เป็นการสูญเสียโอกาสอย่างยิ่ง

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ยอมรับว่า แรกๆ ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันมาก เพราะต่างที่มากัน ทุกหน่วยก็มีกฎหมายและระเบียบวิธีทำงานต่างกัน การจูนทิศทางหรือวิธีการทำงานจึงต้องใจเย็นอธิบายทำความเข้าใจกัน
         "ความร่วมมือดีขึ้นตามลำดับ เพราะการทำงานของแต่ละหน่วยเป็นองคาพยพนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำของประชาชนและของประเทศ สทนช. เป็นเพียงหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่อำนวยการ กำกับ ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน" เลขาธิการ สทนช. คนแรกกล่าว
         การทำงานบริหารจัดการน้ำของประเทศก็ทำกันไป ขณะเดียวกัน ความร่วมมือด้านน้ำกับต่างประเทศ สทนช. จำเป็นต้องสร้างมิติใหม่ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำหนึ่งเดียวของประเทศ ก็ต้องเริ่มสั่งสม ทั้งการสร้างบทบาท สทนช. ในเวทีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรน้ำโลกผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก และผ่านกลไกทางด้านความผันแปรของสภาพภูมิอากาศและทิศทางของการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้มีการเดินทางไปเยือนหน่วยงานด้านน้ำของต่างประเทศหลากหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ฮังการี เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ ไม่นับรวมความร่วมมือที่ชิดใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกัน


         จึงไม่แปลกที่แขกของ สทนช. เริ่มมีองค์กรน้ำระดับชาติ ระดับนานาชาติ ติดต่อเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันบ่อยครั้งขึ้น เป็นหนึ่งในหน่วยงานเนื้อหอมของประเทศ และในระดับนานาชาติ
         "เป็นความจำเป็นที่ สทนช. ต้องเร่งสร้างบทบาทเหล่านี้ จากเดิมที่เราไม่มีหน่วยงานกลางด้านน้ำ เวลาหน่วยงานต่างประเทศเข้ามาติดต่อ ไม่รู้จะติดต่อใครดีถึงจะตรงจุด ตอนนี้ถนนทุกสายมุ่งมาที่ สทนช. ก่อน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างบทบาทในฐานะตัวแทนประเทศไทยในเวทีน้ำโลก เพื่อความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิค และวิธีบริหารจัดการน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์กับเราได้ด้วย"
         ภาพ สทนช. ที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาแค่ปีเศษ เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จะครบรอบ 2 ปีก่อกำเนิด และ 4 เดือนที่มี พ.ร.บ.น้ำเต็มตัว เริ่มชัดขึ้นๆ ภายใต้กรอบเวลาที่วางไว้เป็นช่วงๆ เดือนต่อเดือน ดังเช่นที่ปรากฏจากการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน 2561 ฤดูแล้ง 2561/2562 และฤดูฝน 2562 ที่กำลังเริ่มต้น