ก.เกษตรฯ เผยผลสำเร็จแก้ปัญหาราคา "ข้าว-ข้าวโพด"

         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ว่า จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำให้เกษตรกรเร่งรอบการผลิตข้าวไม่คำนึงคุณภาพ ทำให้มีข้าวในสต๊อกปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เกษตรกรขาดทุน รัฐบาลจึงตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรขึ้นมา เพื่อกำหนดปริมาณการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ โดยกำกับดูแลการปลูกข้าวไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูง พันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสำหรับผู้รักสุขภาพ เช่น พันธุ์ กข43 และพันธุ์ข้าวนุ่ม พันธุ์ กข79 ที่ตลาดต้องการ รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับดินและน้ำ โดยใช้ Agri Map Application อีกทั้งจัดการระบายข้าวที่ค้างในสต๊อกให้หมดลง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกขยับสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิเพิ่มขึ้น จากปี 2557 ราคาตันละ 12,781 บาท ในปี 2557 เป็นตันละ 16,000 บาท ในปี 2562

         สำหรับในปีการผลิต 2562/63 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงกำหนดปริมาณการผลิตในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวทั้งปี จำนวน 72.80 ล้านไร่ ผลผลิต 34.63 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ยังสามารถปรับลดการผลิตข้าวในรอบที่ 2 ไปปลูกพืชอื่น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อีก หากสถานการณ์ราคาข้าวอ่อนตัวลง


         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ การปรับปริมาณข้าวให้เหมาะสมกับความต้องการ จึงเป็นแนวทางสำคัญตามแผนข้าวครบวงจร ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกที่ปรับเปลี่ยนอาชีพ รัฐบาลจึงมีโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เพื่อปรับสมดุลปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวและสร้างรายได้ทดแทน โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งจะสามารถทดแทนการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยประสานผู้รับซื้อกำหนดแผนการผลิตและตลาด มีหลักประกันด้านราคารับซื้อ และประกันภัยพิบัติ ส่งผลให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ 82,316 ราย ในพื้นที่ปลูก 724,932 ไร่ มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 2,000 - 3,000 บาท/ไร่ (ราคารับซื้อ 8 บาท/กิโลกรัม ตามราคาประกันของโครงการ) และผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้รับข้าวโพดคุณภาพดีในการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้


         นอกจากนั้น การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการปลูกข้าวนาปี ประหยัดน้ำได้ถึง 700 ล้าน ลบ.ม. ต่อรอบการผลิต (4 เดือน) เนื่องจากข้าวโพดอาหารสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นโครงการแรกของประเทศที่ไม่ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อการแทรกแซงราคา และไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ