อียูให้สิทธิ์ไทยเจรจาขอโควตาส่งออกสินค้าเกษตร 31 รายการใหม่

         ความคืบหน้าการเจรจาจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรของไทยที่ผูกพันกับสหภาพยุโรป หรือ อียู และสหราชอาณาจักรในกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) จากกรณี Brexit ล่าสุด นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อียูได้ตอบรับให้ไทยมีสิทธิ์เจรจาขอรับจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรใหม่ภายใต้กรอบ WTO โดยครอบคลุมสินค้าเกษตร 31 รายการที่ไทยเคยได้รับจากอียูก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเจรจา Brexit
         ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก 9 รายการ ข้าว 9 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง 4 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป พาสตา และบิสกิต 3 รายการ ทั้งนี้ ปี 2560 มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้ง 31 รายการ จากไทยไปอียูสูงถึง 1,395 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

         ส่วนสหราชอาณาจักร กรมฯ ได้ยื่นขอสิทธิ์เจรจาขอรับจัดสรรโควตาภายใต้ WTO แล้วเช่นกันเมื่อเดือน มี.ค. 2562 โดยครอบคลุมสินค้าเกษตร 30 รายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก 10 รายการ ข้าว 7 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 3 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป น้ำส้ม พาสตา และบิสกิต 4 รายการ ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างติดตามเร่งรัดให้สหราชอาณาจักรตอบรับสิทธิ์เจรจาของไทย ทั้งนี้ ในปี 2560 การส่งออกสินค้าทั้ง 30 รายการจากไทยไปสหราชอาณาจักรมูลค่า 627.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


         "การเจรจาหลังจากนี้จะมุ่งเน้นกำหนดสัดส่วนโควตา เพื่อรักษาส่วนแบ่งสินค้าเกษตรสำคัญของไทยส่งออกไปอียูและสหราชอาณาจักร เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลัง และปลาแปรรูป ของไทยได้รับประโยชน์จากโควตาเดิมที่อียูจัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้โควตานี้จะเสียภาษีอัตราต่ำ"
         นางอรมน เผยอีกว่า กรมฯ ตั้งเป้าการเจรจาน่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในเดือน ก.ย. ก่อนสหราชอาณาจักรจะถึงกำหนดออกจากอียูเดือน ต.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม หากสหราชอาณาจักรและอียูสามารถตกลง withdrawal agreement กันได้ ก็จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับตัว โดยระบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจะยังคงเดิมจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเดือนธันวาคม 2563 หาก 2 ฝ่ายไม่สามารถมีข้อตกลง withdrawal agreement ร่วมกันได้ก่อนเส้นตายเดือนตุลาคมนี้ หรือที่เรียกว่า Hard Brexit ก็จะส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องกำหนดอัตราภาษีและโควตานำเข้าสินค้าต่าง ๆ ของตนเอง แยกจากอียูตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป