บริหารฯน้ำฤดูฝน/ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยง : ป้องกระทบเกษตรกรปลูกข้าวนาปี

 

 

บริหารฯน้ำฤดูฝน/ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยง : ป้องกระทบเกษตรกรปลูกข้าวนาปี

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

     สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) องค์กรกลางด้านน้ำของประเทศ พยายามบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพผ่านสมดุลน้ำ 2 ฝั่ง ทั้งปริมาณน้ำต้นทุน (Supply) และปริมาณความต้องการ (Demand) โดยจากสถานการณ์ปลูกข้าวรอบ2 (นาปรัง) ในฤดูแล้งที่ผ่านมา (1 พ.ย.25-30 เม.ย.62) ยังเป็นจุดที่ สทนช.ต้องกลับไปทบทวนกรณีมีการใช้น้ำเกินไปจากแผนจัดสรรน้ำ

     ดังตัวเลขกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานเมื่อต้นเดือน พ.ค.2562 ว่า พื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานทั้งประเทศ 8.76 ล้านไร่ จากแผน 8.03 ล้านไร่ และนอกเขต 2.69 ล้านไร่ จากแผน 3.18 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกข้าวในเขต 5.86 ล้านไร่ จากแผน 5.30 ล้านไร่ และปลูกนอกเขต 1.68 ล้านไร่ จากแผน 1.88 ล้านไร่

     สรุปคือ ปลูกข้าวเกินจากแผนในเขตชลประทาน 36 จังหวัด จำนวน 1.32 ล้านไร่ และปลูกข้าวเกินแผนนอกเขตฯ 10 จังหวัด 0.15 ล้านไร่ นอกจากนั้น ยังมีการเริ่มปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ในเขตฯ 7 จังหวัดอีก 0.18 ล้านไร่

     จากพื้นที่ส่วนเกินในเขตชลประทานนี้เอง ทำให้สมการน้ำไม่สมดุลลงตัว น้ำต้นทุนในเขื่อนหดหายไป อาจส่งผลกระทบฤดูนาปี หรือนารอบที่1 กรณีเกิดฝนทิ้งช่วง เหตุนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.ได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว ตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวนาปี และสร้างความเข้าใจในพื้นที่ปลูกข้าวก่อนกำหนดที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมขอความร่วมมือกรมการฝนหลวง และการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.

     ดังนั้น แผนการปลูกข้าวนาปี ช่วงฤดูฝน (1 พ.ค.-30 ต.ค.) ที่กรมการข้าวระบุว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในเขตฯ 58.99 ล้านไร่ จึงมีข้อสังเกตจากเลขาธิการ สทนช.ให้หน่วยงานรับผิดชอบบริหารแหล่งน้ำ จัดทำแผนบริหารน้ำ ให้ระบุขอบเขตพื้นที่จัดสรรให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร ป้องกันความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เป็นการปรับแก้สมการบริหารน้ำที่ผิดไปจากแผนฤดูแล้งที่ผ่านมา

     สิ่งที่เป็นกังวลของการทำนาปีรอบนี้คือ ฝนมีแนวโน้มทิ้งช่วงเดือน ก.ค.จะกระทบเกษตรกรที่ทำนาปี มีน้ำต้นทุนน้อย โอกาสข้าวเสียหายมีมาก บวกกับกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า 3 เดือนแรก (พ.ค.-ก.ค.) ของฤดู ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศ และมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งบางพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ตาก นครราชสีมา บุรีรัมย์ ราชบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี

     ขณะที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์สมดุลน้ำล่วงหน้าว่า ภาคอีสานเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากที่สุดของประเทศ 10 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี สอดรับกับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่มีน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุเมื่อสิ้นฤดูแล้ง

      รวมทั้งตรงกับข้อเสนอใช้งบกลางปี 2562 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆนี้ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพี่มปริมาณน้ำ และฝายชะลอน้ำ โดยหวังเก็บน้ำท่าฤดูฝนให้ได้มากที่สุด รองรับโจทย์ใหญ่ขาดแคลนน้ำที่รอทะมึนอยู่เบื้องหน้า