รมช.วิวัฒน์ นำเกษตรกร จ.สุรินทร์ ถือฤกษ์ดี "ลงจอบแรก"

 

         นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่เปิดโครงการชลประทานทฤษฎีใหม่ประยุกต์ หรือ "จอบแรก หัวนา-ราษีไศล" ที่แปลงนาของ นางผ่องศรี โกศล เกษตรกรบ้านหาญฮี หมู่ที่ 3 ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมชลประทานได้บูรณาการนำร่องโครงการฯ ร่วมกันระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำหลักการบริหารจัดการในแปลงเกษตรกรรมมาประยุกต์มาใช้ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืน


         ทั้งนี้ รมช.เกษตร ได้บรรยายพิเศษ เรื่องโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ระยะที่ 1 ที่นำมาแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ริมน้ำมูล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในรูปตามหลักวิชาการและการจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ทำเกษตรกรรมมีการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ คือส่วนหนึ่งของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเริ่มจากตนเองในการทำสิ่งสำคัญคือ การขุดคลองไส้ไก่เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ การดูแลดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา และการปลูกพืชเลียนแบบป่าหรือปลูกต้นไม้ 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง


         สำหรับโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเร่งรัดจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้กับราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล พบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล นาถูกน้ำท่วมที่ระดับ +119 จำนวนเนื้อที่ประมาณ 90,000 ไร่ มีการจ่ายค่าชดเชยในอดีตโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแห่งชาติ จำนวน 400 ล้านบาท จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ ถ่ายโอนภารกิจเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมายังกรมชลประทาน ซึ่งได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยต่อมาอีก 1,500 ล้านบาท รวมพื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ โดยพื้นที่เหลืออีก 30,000 ไร่ หักเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น แม่น้ำ ป่าทึบ สถานที่ราชการ จำนวน 12,000 ไร่ จึงเหลือพื้นที่ จำนวน 18,000 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 599 ล้านบาท ที่ต้องดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563