สถานการณ์น้ำฤดูฝน 2562 : ท่วมไม่น่ากังวลเท่าแล้งน้ำ

สถานการณ์น้ำฤดูฝน 2562
ท่วมไม่น่ากังวลเท่าแล้งน้ำ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล


         สถานการณ์น้ำในปี 2562 น่ากังวล
         ถ้ากางปีปฏิทิน นับจากปีใหม่ 1 มกราคม 2562 มาถึงสิ้นฤดูแล้ง 30 เมษายน 2562 ควบคู่ไปกับอากาศร้อนจัดชนิดตับแตกแล้ว พบว่า ปริมาณฝนน้อยลงชัดเจน
         "ปริมาณฝนทั้งประเทศ 119.4 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติถึง 18%" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
         ดูรายละเอียดรายภาค ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหมด ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรืออ่าวไทย ในขณะภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรืออันดามันที่มีภาพฝนแปด แดดสี่ ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง -23% มากที่สุดเป็นภาคกลาง -62% รองลงมาเป็นภาคอีสาน -29% ภาคตะวันออก -14% และภาคเหนือ -9%
         ภาพรวมปริมาณฝน 4 เดือนแรกติดลบมาก เป็นปัญหาดอกแรก
         ปัญหาดอกที่ 2 เป็นการคาดคะเนปริมาณฝนในช่วงถัดไป เริ่มต้น 3 เดือนแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) คาดหมายว่า จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -10% โดยเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม ปริมาณฝนลดลง -25% เท่ากัน มีตีตื้นในเดือนมิถุนายนที่ใกล้กับค่าเฉลี่ย


         ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ดำรงอย่างต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2561 จนคาดว่าจะถึงเดือนสิงหาคม 2562 นี่เป็นปัญหาดอกที่ 3
         เพราะสิงหาคม-ตุลาคม จะเป็นช่วงเดือนปกติที่ฝนจะมามาก แต่เมื่อมีเอลนีโญกำลังอ่อนผนวกเข้ามา ก็มีแนวโน้มที่ปริมาณฝนอาจลดลงได้ เว้นแต่มีพายุจรทะยอยเข้ามาหลายลูกอย่างต่อเนื่องเหมือนปี 2554
         ปัญหาดอกที่ 4 ปริมาณน้ำต้นทุนเมื่อสิ้นฤดูแล้ง (30 เมษายน 2562) น้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2561
         ถ้าเอาปริมาณน้ำจากทุกแหล่งทั่วประเทศ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีน้ำอยู่ที่ระดับ 53% ของความจุ หรือ 43,290 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อย่าลืมว่าตัวเลขนี้ยังไม่ลบออกจากน้ำไม่ใช้การหรือตะกอนในอ่างเก็บน้ำ เหลือเป็นน้ำใช้การน้อยกว่านี้มากทีเดียว ตัวเลขนี้จึงเป็นความเสี่ยง

 


         โดยเฉพาะในฤดูฝนนี้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำเหลือน้อยต่ำกว่า 30% ของความจุย่อมมีปัญหาต่อการเพาะปลูกแน่ ไม่ว่าพื้นที่ส่งน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 24% เขื่อนลำปาว 24% เขื่อนแควน้อย 23% เขื่อนคลองสียัด 23% เขื่อนทับเสลา 24% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 22% เขื่อนห้วยหลวง 21% เขื่อนกระเสียว 22% เขื่อนลำพระเพลิง 18% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 16% เขื่อนขุนด่านปราการชล 15%
         ยังไม่นับเขื่อนขนาดกลาง โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% มากถึง 107 แห่ง นั่นหมายถึงพื้นที่เสี่ยงกระทบต่อการทำนากระจายไปในวงกว้างทีเดียว
         "น้ำท่วมไม่ห่วง แต่ห่วงว่าจะเก็บน้ำอย่างไรให้ได้มากที่สุด เมื่อฝนตกลงมา" ดร.สมเกียรติกล่าวต่อ
         สถานการณ์น้ำที่น่าวิตกนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ต้องอนุมัติงบกลาง 1,226 ล้านบาท สำหรับ 144 โครงการ เพิ่มแหล่งน้ำและปริมาณน้ำรวม 28 ล้านลูกบาศก์เมตรในพื้นที่ 32 จังหวัดให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน


         เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า เขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% มีเพียงเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี แห่งเดียว ที่ต้องจับตาใกล้ชิดกรณีมีมรสุมหนักเข้ามา
         สทนช. เข็นมาตรการออกมาใช้หลายมาตรการด้วยกัน เช่น การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและสิ่งก่อสร้าง การปรับเกณฑ์ใหม่มาตรการบริหารจัดการในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำทุกขนาดเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำฤดูฝน การกำหนดสถานีหลัก (Key Station) จำพวกสถานีวัดน้ำฝน สถานีวัดน้ำท่า การเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำรายจังหวัด ทั้งการคาดการณ์สภาพอากาศ กำหนดจุดติดตั้งสถานีสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น
         ประเมินจากข้อมูลสถานการณ์น้ำต้นทุน สถานการณ์ฝน การยอมรับสภาพปัญหา อย่างน้อยก็พอเบาใจได้ระดับหนึ่งที่ได้เห็นความพยายามวางแผนรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า อย่างน้อยผ่อนหนักเป็นเบาก็ยังดี
         ที่แน่ๆ ฤดูฝนปี 2562 นี้ ต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง 2562/2563 ปัญหาน้ำแล้ง ดูไม่เบาเอาเสียเลย