กคช.สรุปผลวิจัยฟื้นฟูชุมชนรามอินทรา : แก้ปัญหาแวดล้อม/สังคมบ้านดีกว่าอาคารชุด

      กรุงเทพฯ - ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ตามที่การเคหะฯ มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย “แนวทางฟื้นฟูเมืองและสร้างชุมชนใหม่รามอินทรา ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม” โดยโครงการฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอาคารแฟลต ซึ่งปัจจุบันสภาพแวดล้อมมีปัญหา อาทิ ความทรุดโทรมของตัวอาคาร น้ำท่วมขัง ความสะอาด การจัดการขยะ อาชญากรรม ชุมชนเห็นว่า ควรใช้แนวคิดพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed Development) โดยปรับรูปแบบจากอาคารแฟลตเป็นอาคารสูงแทน

     ส่วนผู้อาศัยใน ชุมชนบ้านแถว ผลการวิจัยพบว่า ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนทางกายภาพ ให้คงลักษณะเดิมไว้ โดยมีปัจจัยส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น มูลค่าที่ดินสูงกว่าแฟลต เจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่ต้องการแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากต้องเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย รวมถึงไม่ต้องการสูญเสียคำว่าหมู่บ้านจัดสรรที่มีการยอมรับทางสังคมดีกว่าคำว่า“อาคารชุด”เป็นต้น

     คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะให้การเคหะแห่งชาติ เร่งออกแบบวางผังโครงการ โดยให้ชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ กำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการที่จะพัฒนาและพื้นที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน ศึกษาความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การให้ความสำคัญต่อชุมชนเดิม ทั้งจัดตั้งองค์กรประสานงานระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐต่อเอกชน เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการประสานงานและดำเนินโครงการ

     ทั้งนี้ โครงการเคหะชุมชนรามอินทรา ก่อสร้างปี 2519 บนพื้นที่ 52,045 ไร่ มีจำนวนหน่วยอาศัย 812 หน่วย ประกอบด้วย อาคารแฟลตสูง 5 ชั้น 490 หน่วย และบ้านแถว 2 ชั้น 322 หน่วย 

dogshow