ชลประทาน 10 ปรับปฏิทินเพาะปลูก ปล่อยน้ำทำนาปี (ชมคลิป)

         จากการเปิดเผยของ นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวว่า โดยปกติพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ของสำนักชลประทานที่ 10 จะได้ผลกระทบจากน้ำหลากในฤดูฝน ทำให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบความเสียหายจากน้ำหลากท่วมนาข้าวที่เก็บเกี่ยวไม่ทัน  ทางชลประทานจึงได้มีการวางแผนปฏิทินการจัดสรรน้ำให้ทำนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำให้แก่ชาวนา ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาโดยทางกรมชลประทานจะปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปีก่อน เนื่องจากจะต้องให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวภายในวันที่ 30 สิงหาคม เนื่องจากช่วงกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะถูกน้ำหลากลงมา รับน้ำจากที่ดอน ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากนาข้าวได้เร็ว เพื่อไม่ให้ถูกน้ำหลากท่วม ข้าวก็จะไม่เสียหายจากน้ำท่วม  เพราะก่อนนี้บางแห่งจะเก็บเกี่ยวแทบไม่ทัน ทำให้ข้าวบางส่วนต้องแช่อยู่ในน้ำ ชาวนาจึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเมื่อน้ำหลากเข้าท่วมทุ่ง

         พอในช่วงเดือนธันวาคมก็จะมีการระบายน้ำออก และให้เหลือน้ำไว้ 20-30 เซนติเมตรเพื่อให้เป็นน้ำต้นทุนแก่เกษตรกรในการตีเลนครั้งถัดไป จากน้ำค้างทุ่ง  ซึ่งในปีที่ผ่านมาจากการวางแผนปฏิทินการจัดสรรน้ำ ทำให้เกษตรกรชาวนาไม่ได้รับความเสียหายของแปลงนาข้าวในการทำนาจากน้ำหลากในฤดูฝน เพราะเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนเดือนกันยายน ทุ่ง อำเภอท่าวุ้ง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้ถูกกำหนดช่วงเวลาเอาไว้ ให้เป็นพื้นที่รับน้ำช่วงฤดูน้ำหลากเป็น1ใน 6 พื้นที่ลุ่มต่ำที่ทางกรมชลประทานวางแผนเอาไว้ของสำนักชลประทานที่ 10 เป็นทุ่งที่มีพื้นที่ 27,000 ไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

         นายทองอาบ เดือนแจ้ง อายุ 64 ปี เกษตรกรชาวนาในทุ่งท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีกล่าวว่า ตนทำนาอยู่ 140 ไร่ ก่อนหน้านี้การทำนาปีก่อนฤดูน้ำหลาก ถ้าทำล่าช้าเสร็จไม่ทันเดือนสิงหาคน พอเข้าเดือนกันยายน ฤดูฝน น้ำจะเข้าหลากท่วมเนื่องจากการระบายน้ำที่ล่าช้าและเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวเมื่อน้ำมาท่วมทุ่งจะทำให้เก็บเกี่ยวข้าวไม่ทัน จนได้รับความเสียหายจากน้ำหลาก อีกทั้งน้ำในแม่น้ำลพบุรีจะหนุนขึ้นมาทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงไปได้ทางตอนล่างของพื้นที่

         ตอนนี้ทางชลประทานได้เข้ามาพูดคุยกับเกษตรกรชาวนาในทุ่งท่าวุ้งเพื่อปรับปฏิทินการส่งน้ำให้แก่ชาวนาเริ่มทำนาปีได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็อยากขอให้ชลประทานเริ่มปล่อยน้ำในวันที่ 1 เมษายน โดยปล่อยน้ำให้ทำนาเร็วขึ้น กว่าเดิม 1 เดือน เพื่อให้สิ้นสุดการเพาะปลูกข้าวในเดือนสิงหาคม เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงถูกน้ำหลากท่วมในช่วงฤดูฝน ก็จะทำให้ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมนาข้าว ถึงแม้ว่าปีนี้จะได้รับน้ำในการทำนาในเดือน พฤษภาคม กว่าจะทำนาเสร็จก็ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม และกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ก็เดือนกันยายน ซึ่งจะอยู่ในช่วงอันตรายที่ต้องระวังน้ำหลากเข้าท่วมข้าวที่รอการเก็บเกี่ยว

: นภาภัทร ทับทิมพราย รายงาน