เกษตรฯ ชูงานวิจัยช่วยเปิดตลาด "มังคุด" สู่ไต้หวัน

         นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2546 ที่สำนักงานกักกันและตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ไต้หวันได้ออกประกาศห้ามนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยไปจำหน่ายที่ไต้หวัน ด้วยเหตุผลมังคุดเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของไต้หวันจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Bactrocera carambolae, B. papayae, B. correcta และ B. zonata นั้น กรมวิชาการเกษตร ก็ได้เสนอวิธีการจัดการความเสี่ยงต่อการป้องกันและกำจัดแมลงวันผลไม้ให้ไต้หวันพิจารณาหลายวิธี โดยไต้หวันให้การยอมรับวิธีการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ ที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 58 นาที ก่อนการส่งออก ซึ่งวิธีการจัดการความเสี่ยงดังกล่าวเป็นวิธีการเดียวกับที่ดำเนินการส่งออกมังคุดไปประเทศญี่ปุ่น

 

         กระทั่งในปี 2560 เจ้าหน้าที่ด้านกักกันพืชของไต้หวัน ได้เดินทางมาร่วมทำการทดลองวิจัยด้วยวิธีการอบไอน้ำกับเจ้าหน้าที่กักกันพืชของไทย ผลการทดลองพบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถกำจัดระยะไข่ของแมลงวันผลไม้ตายได้อย่างหมดสิ้น ไต้หวันจึงได้จัดส่งร่างเงื่อนไขการนำเข้าผลมังคุดสดส่งออกจากไทยไปไต้หวันให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีหนังสือตอบรับร่างเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว

 

         โดยทุกครั้งที่จะมีการส่งออกไต้หวันจะส่งเจ้าหน้าที่กักกันพืชของไต้หวันมาปฏิบัติงานร่วมตรวจสอบกระบวนการอบไอน้ำกับเจ้าหน้าที่กักกันพืชของไทยเพื่อควบคุมการส่งออกมังคุดให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยจะเริ่มมีการส่งออกมังคุดสดในล็อตแรกได้ประมาณเดือนกรกฏาคมนี้ คาดว่าในปี 2562 ไต้หวันจะมีการนำเข้ามังคุดจากไทยไม่ต่ำกว่า 65 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

 

         "เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีที่กรมวิชาการเกษตรสามารถเปิดตลาดส่งออกมังคุดไปไต้หวันได้อีกครั้ง หลังจากไต้หวันยกเลิกการนำเข้ามังคุดจากไทยมานานกว่า 15 ปี จึงขอแจ้งให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกมังคุดสดไปไต้หวันส่งข้อมูลโรงงานอบไอน้ำให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการจัดส่งให้ไต้หวันพิจารณาล่วงหน้า รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกมังคุดไปไต้หวันแต่ไม่มีโรงงานอบไอน้ำ สามารถติดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02 940 6770 ต่อ 141 ,142 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว