สวทช. เปิดแปลงวิจัยมอสิงโต เผย "ชะนี" ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์

         ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเยี่ยมชม "แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต" มีพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2539 ถือเป็นแปลงศึกษานิเวศวิทยาถาวรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ติดตามสำรวจกว่า 20 ปี มีการศึกษานิเวศวิทยาประชากรและชีววิทยาของชะนี ความหลากหลายของพรรณไม้ เถาวัลย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ รวมถึงการติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

         นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการวิจัย "การติดตามศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต จากสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป" เป็นหนึ่งในหลายร้อยผลงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะนำมาจัดแสดงร่วมกับพันธมิตรในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2562

 

         โดย สวทช. เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งปัจจุบันและในอนาคต จึงเปิดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทีมวิจัยได้สำรวจครั้งนี้เพื่อนำเสนอเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพต่อสาธารณชน และเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการอนุรักษ์ร่วมกันในทุกภาคส่วนต่อไป

         น.ส.อนุตตรา ณ ถลาง ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส สวทช. เปิดเผยว่า แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต มีการศึกษาวิจัยที่มีความหลากหลายมาก และโดดเด่นมากในการติดตามศึกษาชะนี ซึ่งมี ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาชาวอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มศึกษาชะนีในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดแปลงวิจัยมอสิงโตแห่งนี้ โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีชะนีสองชนิดพันธุ์ คือ ชะนีมือขาว (H. lar) และชะนีมงกุฎ (H. pileatus) แต่แปลงวิจัยมอสิงโตอยู่ในเขตการกระจายพันธุ์ของชะนีมือขาว

         นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบการเติบโตของพืช ในแปลงวิจัยที่กระจุกตัวบนพื้นที่ที่มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าชะนีจะกระจายเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร เช่น ต้นเงาะป่าทั่วแปลงวิจัยมอสิงโตฯ แล้วก็ตาม แต่กลับพบว่าต้นเงาะป่าเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระดับความสูงขึ้น โดยไม่พบการเกิดและเติบโตของต้นเงาะป่าในพื้นที่ราบหรือเจริญเติบโตได้จำนวนน้อยมาก ขณะเดียวกันยังพบสัตว์ป่า เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ที่เคยพบหากินและอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่าแปลงวิจัยมอสิงโต แต่ระยะหลังมานี้พบการย้ายถิ่นขึ้นมาในพื้นที่มอสิงโตเพิ่มขึ้น คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้พืชและสัตว์ป่ามีการปรับตัวอพยพย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้น เพราะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า

         อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้จากการทำแปลงศึกษาวิจัยมอสิงโตฯ นับว่าทีมวิจัยได้องค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์จำนวนมาก ทั้งความหลากหลายพันธุ์พืชและสัตว์ พืชอาหารที่เป็นประโยชน์ของสัตว์ป่า ความสมดุลของต้นไม้และพันธุ์พืชอื่นๆ ในแปลง เช่น ต้นไม้ใหญ่กับเถาวัลย์ที่เติบโตอยู่ในพื้นที่เดียวกันและสร้างสมดุลพืชได้ดี ทั้งนี้หากพื้นที่ป่าอื่นๆ ในประเทศไทยจะทำแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้แปลงวิจัยมอสิงโตฯ เป็นต้นแบบนั้น ทีมวิจัยเห็นว่าน่าจะได้ประโยชน์และจะได้มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของป่าเขตร้อน สร้างเสถียรภาพด้านภูมิอากาศ และเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สวทช. https://www.nstda.or.th/th/news/12552-20190509-biotec