เอลนีโญกำลังอ่อนจ่อไทย ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำของประเทศ

 

เอลนีโญกำลังอ่อนจ่อไทย

ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำของประเทศ

โดย ปรีชา อภิวัฒน์กุล

 

         แม้จะเบาใจได้บ้างว่าสถานการณ์แล้งในประเทศไทยขณะนี้เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ไม่เป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง (Moderate El Nino) หรือ เอลนีโญกำลังแรง (Strong El Nino) ที่ส่งความแห้งแล้งคุกคามรุนแรงที่แตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ในภาพรวมก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

         ปรากฏการณ์เอลนีโญ สังเกตได้จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก เขตศูนย์สูตร มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 5 เดือนต่อเนื่องกัน โดยค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ถือเป็นค่าปกติอยู่ที่ -0.5 องศาเซลเซียส ขณะที่เอลนีโญกำลังอ่อน อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะอยู่ที่ 0.5-1.0 องศาฯ กำลังปานกลาง 1.0-1.5 องศาฯ และกำลังแรงมากกว่า 1.5 องศาฯ ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยพบกับปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จนถึงสิ้นเมษายน 2562 รวม 8 เดือนเข้าไปแล้ว และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม รวมแล้ว 12 เดือนพอดี หลังจากนั้น ก็ต้องติดตามดูว่าจะหวนคืนสู่ค่าปกติหรือจะพัฒนาต่อไปเป็นกำลังปานกลางหรือกำลังแรง

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ผลสะเทือนของปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน อาจมีผลให้ฤดูฝนปี 2562 เริ่มต้นช้าราวๆ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2562 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดหมายปริมาณฝนรายเดือน 3 เดือน นับแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 ตัวเลขชวนให้ใจเต้น พฤษภาคมปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 25% เท่ากับเดือนกรกฎาคม แต่มิถุนายนกระเตื้องใกล้เคียงค่าเฉลี่ย สรุปรวม 3 เดือนแล้ว ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10%

         สิ้นเดือนเมษายน 2562 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูแล้ง ประเทศไทยมีปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุ แต่ไม่ได้หมายความว่า สามารถใช้การได้ทั้งหมด แบ่งเป็นแหล่งน้ำในภาคเหนือ 48% ปริมาณน้ำ 12,925 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 28% ปริมาณน้ำ 658 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 73% ปริมาณน้ำ 19,614 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35% ปริมาณน้ำ 4,566 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก 40% ปริมาณน้ำ 1,195 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคใต้ 66% ปริมาณน้ำ 6,059 ล้านลูกบาศก์เมตร

         ภาคกลางแม้ว่ามีปริมาณน้ำน้อย แต่น้ำที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้น จึงมีปัญหากระทบต่อเนื่องกันด้วย ที่สำคัญพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ ที่เกษตรกรจะเริ่มต้นปลูกข้าวในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักเพื่อเริ่มหว่านดำ แต่จากข้อมูลคาดการณ์ข้างต้นที่ส่อว่าฝนจะตกน้อยลงหรือกว่าจะตกก็อาจจะล่วงเลยถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก็น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร รวมถึงการพึ่งน้ำสำรองจากแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งมีเหลือไม่มากนัก มีสภาพเป็นน้ำเผื่อเหลือเผื่อขาด (Complimentary) มากกว่า และแม้ว่าเดือนมิถุนายนจะมีฝน แต่พอเข้ากรกฎาคมฝนกลับน้อยอีก ตรงนี้น่าเป็นห่วงต้นข้าวของชาวนาที่การเพาะปลูกอาจมีความเสี่ยง ซึ่งเกษตรกรต้องรับรู้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเพื่อปรับตัวและรับมือกับผลกระทบในบ้างพื้นที่ด้วยเช่นกัน

         จากเรื่องฟ้าฝนแล้ว หวนไปดูปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และเปรียบเทียบกับปี ยิ่งชัดเจนเลยว่า ณ วันที่ 30 เมษายน 2562 มีปริมาณน้ำ 40,566 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าช่วงเดียวของปีก่อนที่มี 44,442 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การ สิ้นเมษายนมีเพียง 17,024 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีก่อนที่มี 20,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

         ปริมาณน้ำโดยรวมๆสู้ปี 2561 ไม่ได้ทุกประตูเลย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำต้นทุนน้อยกว่า 30% ปีก่อนมีเพียง 5 แห่ง ปีนี้ขยับเป็น 12 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง (23%) ป่าสักชลสิทธิ์ (20%) อุบลรัตน์ (24%) ทับเสลา (24%) กระเสียว (20%) ลำปาว (23%) ลำนางรอง (30%) แม่กวง (28%) ลำพระเพลิง (21%) คลองสียัด (26%) ขุนด่านปราการชล (18%) และ แควน้อยบำรุงแดน (28%)

         ความแห้งแล้งแผ่ซ่านไปทุกภาค และต่อนื่องจากอิทธิพลเอลนีโญกำลังอ่อน

         การที่แหล่งน้ำต้นทุนต่ำ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการใช้น้ำในฤดูแล้งที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) ที่เกินจากแผนที่วางไว้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 31 จังหวัด แผนการใช้น้ำ 7,772 ล้านลูกบาศก์เมตร เอาเข้าจริงกลับใช้มากถึง 9,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินกว่าแผน 1,528 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับเขื่อนป่าสัก 1.5 เท่า

         จึงเป็นที่มาที่ สทนช. ประสาน และเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับพื้นที่เพาะปลูกโดยระบุพื้นที่ปลูกและขอบเขตให้ชัดเจน การเพาะปลูกนอกเขตชลประทานเองก็ไม่ได้ระบุแหล่งน้ำที่ใช้ พอถึงเวลาก็อาจใช้น้ำจากแหล่งน้ำชลประทานหรือระบบชลประทานที่อยู่ใกล้เคียงกัน ล้วนทำให้ตัวเลขข้อมูลผิดเพี้ยน จนทำให้การบริหารจัดการน้ำผิดไปจากที่วางแผนไว้ และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่

         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีข้อจำกัดในตัวและเป็นน้ำสำรองใช้ในอนาคตด้วย

         ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนที่กำลังก่อตัวอยู่ในขณะนี้ ยิ่งเร่งรัดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับน้ำต้องเพิ่มความใส่ใจ เกิดความตระหนักกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และผนึกความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่รัดกุมไม่กระทบกันเป็นลูกโซ่อย่างที่ผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำอีก

         เพราะน้ำเป็นของทุกคน เป็นของทุกภาคส่วน Water For All