กรมประมงแนะวิธีป้องกัน/ดูแลสัตว์น้ำ-รับมือวิกฤติแล้ง รุนแรง-ยาวนาน

    รุงเทพฯ - นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศที่แล้งแห้ง บางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยลักษณะเช่นนี้จะทำให้ในช่วงกลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลง ผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อีกทั้ง จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ 

    เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1.การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2.การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3.การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย

     การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน ควรปฏิบัติดังนี้

     1.หากจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าแล้ง ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่แข็งแรงจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้

     2.ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมคันบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ และจัดทำร่มเงาให้กับสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง

     3.จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม

     4.ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรปล่อยพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อลดเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง

     5.เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่ดีมีคุณภาพ และลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย

     6.จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง

     7.หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขทันที กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

     8.ควรวางแผนการเลี้ยง หรืองดเว้นการเลี้ยงช่วงหน้าแล้ง โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงแทน เพื่อเตรียมเลี้ยงในรอบต่อไป

      การเลี้ยงในกระชัง ควรปฏิบัติดังนี้

     1.ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังซึ่งมีระดับลึกเพียงพอ จัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก

     2.ควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และปล่อยพันธุ์ขนาดใหญ่เพื่อลดเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง

     3.เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่ดีมีคุณภาพ และลดปริมาณให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย

     4.เพิ่มความสนใจหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำ และสังเกตอาการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงทีกรณีเกิดอาการผิดปกติจะได้แก้ไข รักษาได้ทันท่วงที

     5.ควรทำความสะอาดกระชังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ ยังช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ

     6.จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง

     7.เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ปลาในกระชัง โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำลงในกระชังเลี้ยงปลา หรือเดินท่อเติมอากาศให้กับปลาที่เลี้ยงในกระชังโดยตรง

     8.ควรมีการวางแผนการเลี้ยง หรืองดเว้นการเลี้ยงในช่วงหน้าแล้ง โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชัง เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป

     รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และ หากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด/สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ทุกแห่งทั่วประเทศ โทรศัพท์ 0-2562-0600 ในวันและเวลาราชการ