บัญชีแหล่งน้ำ-บัญชีผู้ใช้น้ำ : ฐานข้อมูลบริหารจัดการน้ำของประเทศ

บัญชีแหล่งน้ำ-บัญชีผู้ใช้น้ำ 

ฐานข้อมูลบริหารจัดการน้ำของประเทศ

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

     ฐานข้อมูลแหล่งน้ำเท่าที่ประกาศมาโดยตลอด มีเพียงฐานข้อมูลแหล่งน้ำของกรมชลประทานเพียงเจ้าเดียว และเมื่อพูดถึงการบริหารจัดการน้ำก็จะเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานเพียงหน่วยเดียว

     ทั้งที่แหล่งน้ำในประเทศนั้นมีจำนวนมากมายกว่าที่เห็น มีความจุน้ำรวมกันมากกว่าเพียงความจุ 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ของกรมชลประทานเท่านั้น มีบทบาทมากกว่าที่ควรจะเป็นในการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวว่า สทนช.และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า ร่วมกันจัดทำ“บัญชีแหล่งน้ำ”ของประเทศ โดยแยกประเภทแหล่งน้ำใหม่ยึดตามขนาดความจุเพียงอย่างเดียว จากเดิมที่มีนิยามหลากหลาย

     แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ความจุ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จำนวน 38 แห่ง ความจุรวม 71,421 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วยแหล่งน้ำภายใต้ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 25 แห่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 11 แห่ง และแหล่งน้ำสาธารณะภายใต้กรมประมง 2 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ดและหนองหาร

     แหล่งน้ำขนาดกลาง ความจุ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร-100 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 662 แห่ง ความจุรวม 5,884 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย กรมชลประทาน 347 แห่ง กฟผ.3 แห่ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ 6 แห่ง กรมทรัพยากรน้ำ 65 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 29 แห่ง กรมประมง 1 แห่ง กรมเจ้าท่า 1 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 50 แห่ง และยังมีรอการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติม 160 แห่ง

     แหล่งน้ำขนาดเล็ก ความจุน้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร มีจำนวน 142,304 แห่ง ความจุรวม 5,100 ล้านลูกบาศก์เมตร  ประกอบด้วย กรมชลประทาน 975 แห่ง กรมทรัพยากรน้ำ 387 แห่ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ 1 แห่ง การประปาส่วนภูมิภาค 75 แห่ง กรมพัฒนาที่ดิน 4,015 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,825 แห่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 105 แห่ง กฟผ. 2 แห่ง รอข้อมูลยืนยันอีก 36,535 แห่ง และอยู่ระหว่างตรวจสอบประมาณ 100,000 แห่ง

     “จิสด้าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อจัดเก็บข้อมูลแหล่งน้ำ ขณะเดียวกัน ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบข้อมูลแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและกระจายทั่วประเทศ”ดร.สมเกียรติกล่าว

     ข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็นภาพรวมของแหล่งน้ำและปริมาณน้ำได้ชัดเจน แม้จะยังไม่ยืนยันหรือตรวจสอบได้ทั้งหมดในขณะนี้ แต่อนาคตไม่ไกลนัก เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด

     เป็นข้อมูลที่ตุนอยู่ในมือ สทนช.ในฐานะหน่วยงานกลางบริหารจัดการน้ำของประเทศ

     นอกจากบัญชีแหล่งน้ำแล้ว สทนช.ยังกำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ จัดทำบัญชีผู้ใช้น้ำ เมื่อมีทั้ง 2 บัญชีแล้ว การบริหารจัดการน้ำจะกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเห็นที่มา ที่ไป และความสมดุลของน้ำได้ชัดเจนกว่าเก่า

    ที่สำคัญ สทนช.ยังทะยอยปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อให้อ่างเก็บน้ำเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง เพราะน้ำทุกหยดล้วนมีค่า

 

  

    ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวด้วยว่า เครื่องมือบริหารน้ำอีกส่วนคือสถานีวัดน้ำฝน สถานีวัดน้ำท่า และสถานีวัดคุณภาพน้ำ ที่มีหลายหน่วยงานกระจายรับผิดชอบก็ให้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานเสียใหม่เช่นกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันง่ายต่อการบริหารข้อมูลและใช้งานจริง โดยสถานีวัดน้ำฝน 94 แห่ง ดูแลโดยกรมอุตุนิยมวิทยา สถานีวัดน้ำท่า 47 แห่ง เป็นของกรมชลประทาน 44 แห่ง กรมทรัพยากรน้ำ 1 แห่ง และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร 2 แห่ง  สถานีวัดคุณภาพน้ำ 91 แห่ง เป็นของกรมควบคุมมลพิษ 73 แห่ง การประปานครหลวง 11 แห่ง และการประปาส่วนภูมิภาค 7 แห่ง

    “ถ้าใช้กันคนละเกณฑ์ คนละมาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำเดินไม่ได้เลย จึงต้องปรับเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด”

     เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า สถานีหลักเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่  หน่วยงานเกี่ยวข้องจึงเสนอติดตั้งเพิ่มเติม 88 แห่งโดยเพิ่มสถานีวัดน้ำฝน 53 แห่ง มีทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ กฟผ. และเพิ่มสถานีวัดน้ำท่า 35 แห่ง โดยกรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ กรมทรัพยากรน้ำ และ กฟผ.

     “ถ้าเป็นในอดีต ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ก็จะขับเคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง แต่เมื่อจัดตั้ง สทนช. เป็นหน่วยงานกลางก็ต้องบูรณาการทั้งแผนงานโครงการ งบประมาณ สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีพลัง ทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศได้ดีขึ้น ประชาชนเองได้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการน้ำชัดเจนมากขึ้นเช่นเดียวกัน” ดร.สมกียรติกล่าว

     เป็นการยืนยันความเป็นหน่วยงานกลางและการทำงานเป็นทีมของหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมืออาชีพ