เกษตรฯเร่งแก้ปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าว-หวั่นชาวนาถูกหลอก/ขยายพันธุ์กข79รองรับ

    รุงเทพฯ 7 พ.ค.-นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานกรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงข้อร้องเรียนของ นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสั่งชาวนาห้ามปลูกข้าวหอมพวง ทั้งที่ โรงสีรับประกันให้ราคาดี เนื่องจากเป็นข้าวพื้นนุ่มต่างประเทศต้องการ   

      นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงว่ากรมการข้าวเตือนไปยังเกษตรกรต่อเนื่องว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงส่งไปตรวจดีเอ็นเอไม่ตรงกับข้าวหอมพวงของไทย และไม่ใช่ข้าวพันธุ์จัสมิน 85 ของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบที่มาของเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากพบการปลอมปนสูง เมื่อนำไปปลูกจะส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตข้าว อาจไม่ได้ราคาดีตามที่โรงสีรับประกันไว้ อีกทั้ง กรมการข้าวยังนำมาทดลองปลูก เพื่อตรวจสอบทั้งการต้านทานโรค ปริมาณ คุณภาพผลผลิต ที่ผ่านมากรมการข้าวร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอให้คำแนะนำแก่เกษตรกรถึงความเสี่ยงที่จะปลูกข้าวพันธุ์นี้แต่ไม่ได้ห้ามปลูก แต่กรณีที่มีการปลอมปนเมล็ดพันธุ์นั้น กรมการข้าวมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ได้หลีกเลี่ยงโดยนำไปบรรจุในถุงขาว ไม่ติดฉลาก แล้วระบุว่าเป็น“ข้าวนก-ข้าวไก่” จึงไม่สามารถจับฐานปลอมปนเมล็ดข้าวหรือจำหน่ายเมล็ดข้าวปลอมปนได้

      นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานด้านส่งเสริมการผลิตขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ตรงกับความต้องการของตลาด ล่าสุด กรมการข้าวพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่หลากหลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องโดยพันธุ์ที่รับรองแล้วให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูก เช่น ปทุมธานี 1 กข 43 กข 71 เป็นต้น สำหรับพันธุ์กข 71 ยังต้านทานโรคไหม้และโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ไม่ดีพอ จึงพัฒนาข้าวพื้นนุ่ม ไม่ไวแสง อายุการเก็บเกี่ยว 118 วัน ต้านทานโรคแมลงคือ พันธุ์ กข 79 มีผลผลิต 1-1.2 ตันต่อไร่ ซึ่งได้สั่งการอธิบดีกรมการข้าวให้ปรับแผนจากเดิม 1 ปีขยายปริมาณเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการผลิต 2563 เปลี่ยนเป็นให้มีการปลูกจริงปีการผลิตปี 2562 ให้เริ่มทดลองปลูก 9,000 ไร่ในช่วงนาปี ส่วนฤดูนาปรัง 2562/2563 ปลูก 10,000 ไร่เพื่อทดลองตลาด ปลูกทดลองตลาดพร้อมขยายปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้ทันต่อความต้องการปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวพื้นนุ่มคุณภาพของทุกภาคส่วน 

      นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่มีข้อร้องเรียนของชาวนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายกสมาคมว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาห้ามเกษตรกรปลูกข้าวหอมพวงที่ซื้อพันธุ์มานั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าในพื้นที่ ต.มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนธันวาคม 2561 มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในพื้นที่นา 15 ไร่ เกษตรกร 1 ราย 

      ดังนั้น เกษตรอำเภอเสนาพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดด และได้ตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้เพาะปลูก ปรากฏว่า เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจัสมิน 85 หรือข้าวหอมพวง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวไม่รับรองพันธุ์ จึงให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ไม่ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามให้เกษตรกรเพาะปลูก แต่ให้ความรู้และทำความเข้าใจแก่เกษตรกร กรณีเกษตรกรเพาะปลูกจะทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายได้ จากนั้นส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวของกรมการข้าวรับรองและเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นข้าวพื้นนุ่มได้แก่ เช่น กข 77 กข79 ทั้งยังมีพันธุ์ข้าว กข 31 กข 41 กข47 กข57 

      ทั้งนี้ ได้รับข้อมูลจากผู้นำเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเสนาและบางซ้าย แจ้งว่ามีท่าข้าวในเขตอำเภอบางซ้าย ไม่ระบุชื่อจะรับซื้อผลผลิตข้าวพันธุ์จัสมิน 85 โดยจะให้ราคาสูงกว่าผลผลิตข้าวพันธุ์ต่างๆ ตันละ 800-1,000 บาท แต่หากผลผลิตเสียหายเกรงจะขายไม่ได้ตามราคาที่กล่าวไว้ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดพรนะครศรีอยุธยา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเข้าไปประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่สมาชิกเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

     สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ข้าว 28 แปลง รวม 16 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งหมด 38,418.75 ไร่ สมาชิกรวม 1,448 ราย การขับเคลื่อนส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่มีเป้าหมายในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นประเด็นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มปริมาณผลผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลผลิต การจัดการด้านการตลาด โดยใช้แนวทางตลาดนำการผลิต และมีการวางแผนการผลิตและการจัดการผลผลิตร่วมกันในรูปแบบกลุ่ม ซึ่งจังหวัดฯมีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตข้าวที่มีคุณภาพเพื่อบริโภค โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แปรรูป ได้แก่ โรงสีข้าว ถุงบรรจุข้าวสาร ซึ่งขณะนี้สนับสนุนถุงบรรจุข้าวสาร (ถุงข้าวอโยธยา) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร (กลุ่มแปลงใหญ่/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มส่งเสริมอาชีพ) 30 กลุ่ม รวม 55,170 ใบ.