เตือนสวนทุเรียน หน้าร้อนระวัง "ขาดน้ำ-หนอนเจาะ"

 

         กรมวิชาการเกษตร โดยคณะทํางานพยากรณ์และเตือนภัยศัตรูพืช แจ้งข้อมูลเตือนภัยการเกษตร ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2562 เป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอาการขาดน้ำในทุเรียนรวมทั้งความเสียหายที่เกิดจากหนอนเจาะผล ดังนี้

         ทุเรียนในระยะออกดอก

         ให้ระวังอาการขาดน้ำ โดยต้นทุเรียนจะเกิดอาการใบเหี่ยว และดอกอาจร่วงได้ ซึ่งแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น ควรให้น้ำทุเรียนในช่วงฤดูแล้งให้เพียงพอ และจัดหาแหล่งน้ำและให้น้ำเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของทุเรียนในระยะนี้

 

          ทุเรียนในระยะติดผล

         ให้ระวังปัญหาหนอนเจาะผล ซึ่งหนอนจะเข้าทำลายทุเรียนตั้งแต่ผลเล็ก อายุประมาณ 2 เดือน จนถึงผลโตเต็มที่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวทำให้ผลเป็นแผล อาจทำให้ผลเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ การที่ผลมีรอยแมลงทำลายทำให้ขายไม่ได้ราคา ถ้าหากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล ทำให้บริเวณดังกล่าวเน่าเมื่อผลสุก ที่บริเวณเปลือกของผลทุเรียนจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจน และจะมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่ผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกัน หนอนจะเข้าทำลายมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะแม่ผีเสื้อชอบวางไข่บริเวณรอยสัมผัสนี้

         สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น 1.หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย

         2.ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผลเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย

         3. การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้

         4. สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล (ในแหล่งที่มีการระบาด พ่นหลังจากทุเรียนติดผลแล้ว 1 เดือน พ่น 3-4 ครั้ง ทุก 20 วัน