ครม. อนุมัติงบกว่า 148 ล้าน รับมืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร

 

         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (9 เม.ย.62) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ของประเทศไทย เป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้น

         โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน พบการระบาดใน 18 ประเทศ แบ่งป็นทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 4 ประเทศ ขณะที่ทวีปเอเซียมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2561 ต่อมาพบที่มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา และมีรายงานการทำลายสุกรในจีน 950,000 ตัว มองโกเลีย 2,992 ตัว เวียดนาม 46,600 ตัว และล่าสุดที่กัมพูชาเพิ่งพบการติดเชื้อ ประมาณการความเสียหายเบื้องต้นมูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท

         "ครม.อนุมัติแผนใช้จ่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( ASF) วงเงินงบประมาณ 148,542,900 บาท โดยปีงบประมาณ 2562 เป็นเงิน 53,604,900 บาท ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2563 เป็นเงิน 52,419,000 บาท และปีงบประมาณ 2564 เป็นเงิน 42,519,000 บาท ในระยะเร่งด่วนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ส่วนระยะยาวให้ยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล จัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อ ASF คงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา"

         สำหรับประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 210,978 ราย เป็นรายย่อย 208,192 ราย เลี้ยงสุกรขุน 80,000 ตัว สุกรพันธุ์ 63,000 ตัว ลูกสุกร 733,000 ตัว เป็นรายใหญ่ 2,758 ราย เลี้ยงสุกรขุน 8,800,000 ตัว สุกรพันธุ์ 1,137,000 ตัว และลูกสุกร 4,670,000 ตัว หากเกิดการระบาดของโรคแล้วทำลายสุกรกรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 21,168,000,000 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 35,280,000,000 บาท ถ้าเกิดโรคร้อยละ 80 ​ของสุกรที่เลี้ยงเสียหายรวม 56,448,000,000 บาท และถ้าเกิดการระบาดทั้งหมดจะเสียหายรวม 70,560,000,000 บาท รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เนื้อสุกรมีชีวิต ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์อีกมหาศาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่เกษตรกรเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน 

         อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี มีระบบการทำลายสุกรและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล จะเป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากความต้องการสุกรของจีน เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของประเทศไทยกิโลกรัมละ 60 บาท ภายหลังเกิดโรคคาดการณ์ว่า จะทำให้ราคาสุกรในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

dogshow