ทส.แก้ พ.ร.บ.5ฉบับ-สกัดนายทุนรุกพื้นที่ป่า-เร่งจัดสรรให้ชุมชนสร้างอาชีพ

 

     รุงเทพฯ - พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กล่าวว่า ได้มีมาตรการยึดคืนพื้นที่ป่าต่อเนื่องและจริงจังตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากกลุ่มทุนที่บุกรุกป่า ซึ่งจากช่วงเวลาดังกล่าวกระทรวงทรัพยากรฯโดยกรมป่าไม้ สามารถยึดพื้นที่ป่าคืนมาได้ถึงกว่า 1 ล้านไร่ พร้อมเร่งแก้ปัญหาการบุกรุกป่าด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อให้คนอยู่และใช้ประโยชน์จากป่า รวมทั้งเปิดทางให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า 

      ที่น่าสนใจคือการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนปลูกและตัดไม้หวงห้าม เช่น สัก พะยูง ในที่ดินของตนเองได้อย่างถูกกฎหมาย และนำต้นไม้ที่ปลูกไปค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแล้ว คาดจะบังคับใช้ได้ใน เม.ย.2562 นี้ ส่วนการใช้ไม้หวงห้ามเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินว่าต้นไม้แต่ละชนิดตีราคาอย่างไร หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็ใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้เช่นกัน 

      ทั้งนี้ จากปัจจุบันที่มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ปลูกไม้มีค่าบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ทั้ง โฉนด,น.ส.3, น.ส.3ก.,น.ส.3 ข,ใบจอง,น.ส.2,ส.ค.1 แล้ว ในอนาคตอันใกล้กระทรวงทรัพยากรฯ กำลังพิจารณาให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าบนที่ดิน ส.ป.ก.(ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และอนุญาตให้ประชาชนเข้าทำกิน) ที่ ส.ท.ก. (ที่ในเขตป่าสงวนและป่าเสื่อมโทรมซึ่งประชาชนได้รับสิทธิทำกิน) ด้วย

      อีกทั้ง มีการยกร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการพิจารณาจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน ขณะนี้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว อยู่ระหว่างรอพิจารณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยตรงไหนได้บ้าง และอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด โดยพื้นที่ป่าที่จะจัดสรรให้แก่ประชาชน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ

     กลุ่มที่1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 ที่อยู่มาก่อนมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อนุญาตให้ใช้ประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

     กลุ่มที่2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 หลังมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยต้องปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ และต้องดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม

     กลุ่มที่3 ชุมชนเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 ก่อนมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ควบคุมการใช้ที่ดินภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุกและขยายพื้นที่, ให้ประชาชนปลูกป่า 3 อย่างร้อยละ 20 ของพื้นที่

      กลุ่มที่ 4 ชุมชนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งก่อนและหลังมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้สำรวจการครอบครองที่ดิน ตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่ หากพบเป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้ย้ายราษฎรออกไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่หากไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้พิจารณาผลสำรวจการครอบครองที่ดินและพิจารณาตามความจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ และ

      กลุ่มที่ 5 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ให้อยู่อาศัยได้โดยถูกกฎหมายแต่ยังถือว่าเป็นพื้นที่ของรัฐ โดยจะจัดสรรพื้นที่ป่าให้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ฟื้นฟู

     “การจัดสรรพื้นที่ป่าให้ประชาชนคืบหน้าไป 20-30% ขณะนี้พื้นที่ป่าที่จัดสรรให้ประชาชนอยู่อย่างถูกกฎหมายกว่า 4.6 ล้านไร่ แบ่งเป็น ป่าสงวน 300-400 ไร่ ป่าอนุรักษ์ 4.5 ล้านไร่ ป่าชายเลน กว่า 1 แสนไร่ ซึ่งเชื่อว่าหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้แล้วการดำเนินการจะคืบหน้าอย่างรวดเร็ว คาดสิ้นปี 2563 จะคืบหน้าถึง 80%”พล.อ.สุรศักดิ์ระบุ

      อีกฉบับที่กระทรวงทรัพยากรฯ กำลังเร่งแก้ไขคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่ง พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุเป็นกฎหมายที่มีความพยายามแก้ไขมานานถึง 28 ปี เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่กับป่ามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายช่วยดูแลรักษาป่าแลกกับการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า เช่น เก็บพืชผักจากป่าไปกินและขายได้ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว รอประกาศเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้

     “เรามีเป้าหมายป่าชุมชนทั้งสิ้น 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่รวมประมาณ 19.1 ล้านไร่ ขณะนี้เราจัดตั้งไปแล้ว 13,000 หมู่บ้าน” 

      นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่ออนุญาตให้คนที่อยู่กับป่ามาก่อนสามารถอยู่ในพื้นที่ป่าได้และช่วยดูแลรักษาป่าได้ 

      พล.อ.สุรศักดิ์ ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า การปฏิรูปพื้นที่ป่าครั้งนี้จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ของป่าไม้อันเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานไทยในอนาคต ทั้งจากนโยบายยึดคืนผืนป่า การแก้กฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้ และการแก้กฎหมายให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินส่วนตัวได้ จะส่งผลให้พื้นที่ป่าโดยรวมของประ เทศเพิ่มขึ้นทั้งจากป่าธรรมชาติและป่าปลูก ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ 102.48 ล้านไร่ คิดเป็น 32% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ หากมีไม้จากป่าปลูกเข้ามาเพิ่มจะยิ่งทำให้สถานการณ์ป่าไม้ของไทยดียิ่งขึ้นไปอีก โดยรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีข้างหน้า ปี 2580 ประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าโดยรวมทั้งป่าธรรมชาติและป่าปลูกไม่น้อยกว่า 55% ของพื้นที่ทั้งประเทศ

      อ้างอิง : https://mgronline.com/specialscoop/detail/9620000017599