คัดเลือกกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น

 

         กรมชลประทานคัดเลือกรอบแรกได้ 5 กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น รอประเมินในระดับพื้นที่อีกครั้งเพื่อจัดลำดับผู้ชนะอันดับ 1 และระดับรอง โดยเข้ารับรางวัลในวันสถานปนากรมชลประทาน 13 มิถุนายนนี้

         นายวิวัฒน์ มณีอินทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2563 นั้น คณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เป็นประธาน มีมติคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานผ่านเข้ารอบเพื่อรอการประเมินระดับพื้นที่ จำนวน 5 สถาบัน ประกอบด้วย

         1.กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลอง RMC คู 1-10, 1 L-RMC จ.เชียงราย โครงการชลประทานเชียงราย สำนักงานชลประทานที่ 2 2.กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ โครงการชลประทานอำนาจเจริญ สำนักงานชลประทานที่ 7 3.กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จ.จันทบุรี โครงการชลประทานจันทบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 4.กลุ่มบริหารการใช้น้ำฝั่งซ้ายสามัคคี จ.ชัยนาท โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ สำนักงานชลประทานที่ 12 และ 5.กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานตำบลคอกกระบือ จ.ปัตตานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี สำนักงานชลประทานที่ 17

 

         "เกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด คือ 1ความคิดริเริ่ม 2. ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ 3.การมีส่วนร่วมของสมาชิก 4.ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน 5.การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" นายวิวัฒน์กล่าว

         ขั้นตอนต่อไป จะมีการลงพื้นที่จริง เพื่อพิจารณาประเมินและเพื่อจัดลำดับอีกครั้ง และจะเข้ารับรางวัลจากอธิบดีกรมชลประทานในวันสถาปนากรมชลประทาน 13 มิถุนายน 2562

         "การประเมินครั้งแรก เป็นการนำเสนอจากกลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศที่กรุงเทพฯ คณะอนุกรรมการคัดเลือกได้ 5 กลุ่มที่มีความสามารถในการบริหารจัดการตามเกณฑ์ใกล้เคียงกัน จากนั้นจึงลงประเมินในระดับพื้นที่ทั้ง 5 แห่ง เพื่อจัดลำดับกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 1 และอันดับรองๆ"

         นายวิวัฒน์กล่าวว่า การคัดเลือกสถาบันผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น เพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจกลุ่มผู้ใช้น้ำในการพัฒนายกระดับการบริหารจัดการน้ำ ท่ามกลางปัญหาปริมาณน้ำมีข้อจำกัด แต่มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นให้เกิดความเป็นธรรมในระหว่างสมาชิกด้วยกัน และสามารถใช้น้ำประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน

 

 

dogshow