โครงการ“โซลาร์ภาคประชาชน"-กกพ.ชี้ปชช.ผลิตใช้เอง เหลือขาย คืนทุน7-10ปี

    กรุงเทพฯ - ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแถลง ในงานเปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 เห็นชอบแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 เพื่อเสริมสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีตามแนวพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เป็นระบบไฟฟ้าทันสมัยให้สามารถรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและมาตรการอนุรักษ์พลังงานได้สูงถึง 35% ในปี 2580 ซึ่งการใช้ แผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Photo Voltaic Solar Cell) ถือเป็นส่วนสำคัญของแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ในสัดส่วนมากกว่า 50% ด้วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 12,725 MW และจากนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นที่มาของโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” 

     โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้กำหนดหลักการ โครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคาร ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้ เข้าสู่ระบบได้ ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 MW ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ ที่ในแต่ละปีคาดจะมีการติดตั้ง 10,000-20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี 

      นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของ กกพ. ซึ่งนอกจาก กกพ.ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ออกประกาศเชิญชวนตามปกติแล้ว กกพ.ยังอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูล การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ และยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

      1.สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะเริ่มกระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 โดยประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือ จากเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.ที่ www.erc.or.th และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง 2 แห่ง

      2.เปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง และเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562

      3.ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 

      4.กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562

      อย่างไรก็ตาม นายเสมอใจ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งโครงการฯดังกล่าว ประชาชนต้องลงทุนเพื่อติดตั้งระบบ ซึ่งควรคำนึงถึงความคุ้มทุนด้วย โดยความคุ้มค่าการลงทุนจะขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก และให้เปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลาใช้ไฟฟ้า เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น 

  

      นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (สำนักงาน กกพ.) กล่าวเสริมว่า กกพ.จะนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโควต้าของการไฟฟ้านครหลวง 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย

       กลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมโครงการคือ ภาคครัวเรือน มีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้

       1.ผู้ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า ประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย)

       2.มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 10 KWp ต่อมิเตอร์

       3.การไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี

       4.ยอดรวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และ 5.COD ภายในปี 2562

     วิธีการรับซื้อจะใช้ระบบ ใครยื่นก่อนได้ก่อน (First come First serve) ผ่านระบบ Online ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ Grid Code ในปัจจุบัน และจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผ่านระบบ Online ของสำนักงาน กกพ.

       นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ประเมินระยะเวลาคืนทุนสำหรับกรณีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ วงเงินลงทุนประมาณ 150,000 บาท-200,000บาท โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบ 100% จะได้ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วย คิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 12,500 บาท ระยะเวลาคืนทุนจะนาน 12-16 ปี

      ทว่า หากเป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและใช้เอง 100% โดยไม่ได้ขายเข้าระบบ จะประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งอยู่ที่ 3.8 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 28,000 บาทต่อปี ระยะเวลาคืนทุนจะสั้นลงอยู่ที่ประมาณ 5-7 ปี

      ดังนั้น โครงการโซลาร์ภาคประชาชนจึง สนับสนุนให้มีการติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นลำดับแรก และหากมีไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้ค่อยขายเข้าสู่ระบบ เพราะจะทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยกรณีดังกล่าว จะคิดเป็นส่วนรายได้และรายจ่ายที่ประหยัดได้รวมประมาณ 20,000 บาทต่อปีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 7-10 ปี

      ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กกพ.ประเมินเงินลงทุนในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อยู่ที่ 30,000 บาท ต่อกิโลวัตต์ (kWp)

     ขอบคุณข้อมูล-ข่าว ภาพ : ศูนย์ข่าวพลังงาน http://www.energynewscenter.com ,สยามรัฐ ออนไลน์