สวทช. ผนึก มรภ.เพชรบุรี ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ชุมชน

 

 

         สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AGRITEC) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ผลักดันให้เกิดนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ชุมชน

         นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AGRITEC) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนา นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันตก ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเก็บรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

 

         ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ที่มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยราชภัฎยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน ซึ่งความร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มหาวิทยาลัยฯ พร้อมเป็นแหล่งวิชาการและกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำร่องผลักดันให้เกิดเกษตรอินทรีย์ และเกษตรอัจฉริยะในจังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการนำร่อง "การพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรีสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล" โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลช่องสะแก เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกร เป็นสถานีเรียนรู้และต้นแบบในชุมชน เพื่อขยายผลในลำดับต่อไป

         เกี่ยวกับ AGRITEC สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AGRITEC) เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. มีภารกิจเร่งรัดให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริงในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่า/รายได้ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและชุมชน สร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากภาคการผลิตสู่ภาคการตลาด

 

 

dogshow