แตงโมนางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา

  

แตงโมนางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา

ผลผลิตเบ่งบานจากการจัดระบบน้ำ

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

         นางย่อน เป็นชื่อเดิมของ อ.คุระบุรี จ.พังงา

         ผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังทั่วภาคใต้ในอดีต คือ กะปินางย่อนหรือเคยนางย่อน แต่ปัจจุบันมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือแตงโมนางย่อน กระทั่งถึงกับจัดเป็นงานประจำปี "วันแตงโม-ของดีเมืองคุระบุรี" เป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา

         แตงโมของที่นี่ปลูกกันหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์กินรี ตอร์ปิโด จินตหรา ธารโต เป็นต้น ระยะหลังหันไปสร้างจุดเด่นเป็นแตงโมรูปหัวใจ สร้างความแตกต่างเป็นจุดขาย บวกกับการโฆษณาว่าเป็นแตงโมปลอดสารพิษ ทำให้แตงโมนางย่อนทำรายได้เข้าจังหวัดพังงาร่วม 200 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

         ฤดูการปลูกแตงโมนางย่อน ปลูกได้ 2 ฤดู แบ่งเป็นฤดูฝน ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม และฤดูแล้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ไปเก็บเกี่ยวประมาณ เดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยเป็นพืชปลูกเสริมระหว่างแถวของพืชหลัก พืชหลักส่วนใหญ่เป็นยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวในขณะที่พืชหลักยังไม่ให้ผลผลิต

         ยางพาราต้องใช้เวลา 7 ปีถึงกรีดน้ำยางได้ เช่นเดียวกันกับปาล์มน้ำมันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปีกว่าจะให้ผลผลิตมากพอ ดังนั้นแตงโมซึ่งเป็นพืชระยะสั้นจึงเป็นพืชทางเลือกที่จะทำให้เกิดรายได้

         กระนั้นก็ตาม แตงโมก็มีข้อจำกัดปลูกได้ในช่วงที่พืชหลักอายุไม่เกิน 3 ปี เพราะมากกว่านั้น ร่มเงาไม้หลักจะสูงและแผ่บดบังแสงแดด ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตของแตงโม

         คลองนางย่อนเป็นคลองสายหลักของ อ.คุระบุรี มีต้นกำเนิดจากทิวเขาพ่อตาหลวงแก้ว เขาพระหมี ในเขต อ.คุระบุรี ไหลลงทะเลอันดามันที่ ต.คุระ อ.คุระบุรี

         แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองฝน 8 แดด 4 แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกทำให้ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่เกษตรกรยังคงต้องการน้ำใช้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

         การปลูกแตงโมในฤดูฝนอาจพบปัญหาขาดแคลนน้ำน้อยกว่าฤดูแล้ง และปัญหาประการหนึ่งยังขาดแหล่งน้ำต้นทุน เพราะแม้มีคลองนางย่อนแต่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ น้ำเหล่านั้นจึงไหลลงทะเลอันดามันเป็นส่วนใหญ่

         กรมชลประทานได้ทำการสำรวจ ถามปัญหาและความต้องการของราษฎร จึงได้ดำเนินการก่อสร้างฝายคลองนางย่อนแล้วเสร็จ ปี 2537 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยส่งน้ำผ่านระบบท่อ ขณะเดียวกันมุ่ง

         สร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนคลองนางย่อน ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจาก จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

         แต่ระบบส่งน้ำดังกล่าวไม่สามารถทำการส่งน้ำได้ถึงแปลงเกษตรแบบทั่วถึงครบทุกแปลง มีทางเดียวที่ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำทั่วถึง คือ การก่อสร้างระบบแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นา กรณีนี้คือการจัดระบบน้ำ หรือที่เรียกว่า คันคูน้ำ ในอดีตนั่นเอง

         นายปุลิน กุหลาบ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 32 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า โดยภาพรวมแหล่งน้ำต้นทุน คือ ฝายคลองนางย่อน สามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีการก่อสร้างงานจัดระบบน้ำ ซึ่งเป็นระบบแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นา (On Farm Irrigation) ก็จะช่วยให้การกระจายน้ำถึงแปลงเกษตรได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะการส่งน้ำโดยระบบท่อใหญ่คล้ายกับเส้นเลือดใหญ่ส่งเลือดออกไปกระจายแบบกว้างๆ แต่จะให้ถึงทุกเซลล์ก็ต้องมีเส้นเลือดฝอย เปรียบเสมือนกับการจัดระบบน้ำ หรือรับระบบท่อย่อยเข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง

         "ตัวเลขกำไรขาดทุนชัดมาก ก่อนมีการจัดระบบน้ำ เกษตรกรลงทุนปลูกแตงโม 2 แสนบาท ผลปรากฏขาดทุน เพราะ ต้องลงทุนซื้อท่อเองมาดำเนินการเอง ทำให้น้ำถึงบ้างไม่ถึงบ้าง แต่พอหน่วยงานเราเข้ามาจัดระบบน้ำ ทำให้เกษตรกรมีน้ำมาทำการเกษตรโดยไม่ต้องลงทุน แถมยังมีปริมาณที่เพียงพอ ปีนี้ลงทุน 2 แสนบาท ขายแตงโมได้ 7 แสนบาท กำไร 5 แสนบาท"

         นอกจากพืชเสริมได้น้ำแล้ว พืชหลักอย่างปาล์มน้ำมันก็ดี ยางพาราก็ดี พลอยได้อานิสงส์เป็นความชุ่มชื้นไปในตัวด้วย เท่ากับได้กับได้ในทางเศรษฐกิจ

         ในทางสังคม สายน้ำก็คล้ายน้ำใจ แต่ก่อนเกษตรกรเองยื้อแย่ง ทะเลาะกัน เพราะน้ำมีไม่เพียงพอ แต่พอก่อสร้างงานจัดระบบน้ำแล้วเสร็จ และจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมา ความเคืองโกรธที่เคยเกิดจากการขาดน้ำก็พลอยลดลงเป็นความร่วมมือบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

         "เป็นผลพลอยได้ที่น่าภูมิใจ การจัดระบบน้ำทำให้เกษตรกรร่วมมือกัน ต่อไปจะเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปในตัว ซึ่งประการหลังประเมินมูลค่าไม่ได้"

         นายปุลินกล่าวอีกว่า การจัดระบบน้ำของฝายคลองนางย่อนบริเวณ ต.คุระ ดำเนินมา 2 ระยะ คือ ปี 2555-2556 และปี 2561-2563

         "พื้นที่โครงการทั้งหมด 15,000 กว่าไร่ ตอนนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว 13,000 ไร่ ที่เหลือน่าจะก่อสร้างเสร็จทั้งพื้นที่ในปี 2563"

         จากคลองนางย่อน สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 32 ยังเล็งไปขยายที่โครงการฝายปางหมาน ต.แม่นางขาว อ.คุระบุรี ขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างฝายปางหมาน

         และระบบท่อจากนั้นสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จึงเข้าไปสำรวจและวางแผนก่อสร้างระบบจัดน้ำเช่นเดียวกับที่ฝายคลองนางย่อน

         "เราเข้าไปที่ไหน เกษตรกรบอกว่าต้องการให้ก่อสร้างจัดระบบน้ำให้ทั้งนั้น เพราะเขาเห็นผลแล้วว่า น้ำถึงแปลงเกษตรและมีน้ำต้นทุนที่สามารถจัดให้สม่ำเสมอ มีน้ำแล้วปลูกอะไรก็ได้ผล อีกหน่อยแตงโมจะขยายพื้นที่ปลูกมากกว่านี้" นายปุลินย้ำ

         เป็นข้อสรุปที่ไม่เกินจริง เวลานี้เกษตรกรขยายไปปลูกแตงโมที่ อ.ตะกั่วป่า และ อ.ท้ายเหมือง ที่แน่ๆ คือ ต้องการน้ำโดยเฉพาะฤดูแล้ง และการจัดระบบน้ำเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบที่เกษตรกรต้องการอย่างยิ่ง

 

ADS. home