"กูรูประกันข้าว"ตัวช่วยเกษตรกรไทยรับมือภัยธรรมชาติ"ข้าวนาปี-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์"

      รุงเทพฯ - ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.ได้จัดทำ Mobile Application ภายใต้ชื่อ “กูรูประกันข้าว” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยแบ่งออกเป็น 6 ฟังก์ชัน คือ

      1.ข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปี โดยระบุรายละเอียดของการทำประกันภัย ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การซื้อประกันภัย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์

      2.ข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การซื้อประกันภัย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ รวมถึงการแจ้งข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันภัยข้าวนาปีและประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรได้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ

      3.ตรวจสอบสถานะทำประกันภัย โดยบูรณาการข้อมูลกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อเชื่อมต่อ Website“มะลิ”ในการตรวจสอบสถานะทำประกันภัยข้าวนาปีของเกษตรกรว่าการประกันภัยของเกษตรกรอยู่ในสถานะใด เช่น อยู่ในพื้นที่ประกาศภัย การรอจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือคืนเบี้ยประกันภัย

      4.การสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยของเกษตรกรผ่านความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ด้วยระบบ GPSโดยระบุพื้นที่ความเสี่ยงตามความเสียหายที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในปีการผลิต 2561 ที่ผ่านมา และสามารถแสดงผลได้ถึงระดับตำบล

      5.การแสดงข้อมูลราคาพืชผลทางการเกษตร การแจ้งเตือนภัยธรรมชาติแหล่งความรู้เรื่องการเกษตรอื่นๆ จาก “แผ่นดินทอง”ซึ่งเป็น Website ให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

      6.ช่องทางการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สำนักงาน คปภ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

 

       พร้อมกันนี้ คปภ.ยังจัดอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้ง ผลักดันให้การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยตั้งเป้ามีเกษตรกรร่วมทั้ง 2 โครงการ 30 ล้านไร่ ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดอบรมครั้งแรกของปีนี้ ที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 3-4 เมษายน 2562

     โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ได้พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 จึงมีความโดดเด่นและมีไฮไลท์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

      ประการแรก รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

      ประการที่สอง เพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้คุ้มครองความเสี่ยงภัยให้กับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด

      ประการที่สาม ค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน 85 บาท ลดลงจากปี 2561 ราคา 90 บาทต่อไร่โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ มีความคุ้มครองพื้นฐาน 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาทต่อไร่  

      รณีเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย พื้นที่สีแดง มีความเสี่ยงภัยสูง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง จ่ายเบี้ยประกันภัย 25 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลือง มีความเสี่ยงภัยปานกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี บึงกาฬ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 15 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว 56 จังหวัดที่เหลือ จ่ายเบี้ย 5 บาทต่อไร่ สินไหมทดแทนคุ้มครองส่วนเพิ่ม 240 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันส่วนแรกบวกเพิ่มกับส่วนที่ 2 จะได้รับความคุ้มครอง 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่

      โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ มีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่1) อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่

       กรณีเกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เชียงราย นครราชสีมา นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร ลพบุรี อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 23 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเขียว มีความเสี่ยงภัยน้อย 24 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ ตราด นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี อุทัยธานี อุบลราชธานี และพื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงปานกลาง 45 จังหวัดที่เหลือ จ่ายเบี้ย 10 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือ โรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ส่วนที่2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่

       ทั้งนี้ เกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.และที่เป็นเกษตรกรทั่วไป เลือกซื้อความคุ้มครองได้จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 บริษัท หรือ สอบถามที่สายด่วน คปภ.1186,เว็บไซต์ www.oic.or.th,กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทร.02-515-3998-9 ต่อ 8307,http://www.facebook.com/PROIC2012