หลักปฏิบัติ-การสิ้นสภาพสิทธิ ของเกษตรกรได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.

      เป้าหมายสําคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นอกจากมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิ และการถือครองที่ดินแล้วยังให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรเพื่อให้สามารถดํารงชีพในที่ดินที่ได้รับจากกการปฏิรูปที่ดินได้ โดยผู้มีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มี 3 ประเภท คือ

 

 

       1.เกษตรกร หมายถึง

         1.1 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักได้แก่ผู้ที่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วตามความเป็นจริงและใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมิใช่อาชีพอื่น และเป็นผู้ไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ

         1.2 ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักได้แก่ผู้ที่ยังไม่เป็นเกษตรกรแต่ประสงค์จะเป็นเกษตรกรและมาขอรับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบุคคลประเภทนี้ได้แก่

          - ผู้ยากจน หมายถึง ผู้มีรายได้ซึ่งรวมสิทธิหรือประโยชน์อื่นๆ ที่สามารถคํานวณเป็นตัวเงินได้และเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่สูงกว่าอัตรารายได้ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) กําหนด

          - ผู้จบการศึกษาทางการเกษตรกรรม หมายถึงผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ํากว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่าในประเภทวิชาเกษตรกรรม

          - บุตรของเกษตรกรรม หมายถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

      2.สถาบันเกษตรกร หมายถึง กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรและชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ซึ่งจะได้รับการจัดที่ดินตามขนาดเนื้อที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (คปก.) เห็นสมควรให้โดยคํานึงถึงประเภทและลักษณะการดําเนินงานของสถาบันเกษตรกรนั้นๆ

      3.ผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กําหนดกิจการดังนี้

        1.กิจการอื่นที่เป็นการกสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

          - กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิต การทดลองเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร

          - กิจการที่ส่งเสริมหรือประกันราคาพืชผล หรือลดต้นทุนผลิตทางการเกษตร

          - กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ (ส.ป.ก.) ในการดําเนินการผลิต 

          - กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิต การจําหน่ายและการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น 

        2.กิจการที่เป็นการเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หมายถึงกิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก

ลักปฏิบัติ-หน้าที่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

        เมื่อเกษตรกรได้รับการคัดเลือกเข้าทําประโยชน์ในเขตที่ดินลงชื่อในหนังสือรับมอบที่ดินและหรือสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชยเรียบร้อยแล้วจะต้องเริ่มเข้าทําประโยชน์ในที่ดินนั้น และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้

        1.ทําประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถและไม่นําที่ดินทั้งหมด หรือบางส่วนไปให้ผู้อื่นเช่า ให้ทําประโยชน์ หรือขาย หากไม่ต้องการจะทําประโยชน์ในที่ดินให้ยื่นคําขอสละสิทธิพร้อมบอกเลิกสัญญา หรือขอโอนสิทธิ์ในที่ดินนั้นให้สามีหรือภรรยาหรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะยื่นคําขอได้ที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.จังหวัด)

       2.ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินจนเป็นเหตุให้ดินเสื่อมสถาพความเหมาะสมแก่การประกอบเกษตรกรรม เช่น ขุดหน้าดินขาย

       3.ไม่ขุดบ่อเพื่อเกษตรกรรมเกินกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่ที่ได้รับมอบ เช่น ถ้า ส.ป.ก.จัดที่ดินให้ 20 ไร่ จะขุดบ่อได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างใดๆ นอกเหนือจากการปลูกสร้างโรงเรือน ยุ้งฉาง ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรของเกษตรกรนั้นตามสมควร หากต้องการจะทําการใดๆ ที่เกินจากนี้ให้ยื่นคําขออนุญาตต่อ ส.ป.ก.จังหวัดก่อน

       4.ดูแลรักษาหมุดหลักฐานและหลักเขตในที่ดินที่ได้รับมอบ มิให้เกิดชํารุดเสียหาย หรือเคลื่อนย้ายไปจากตําแหน่งเดิม

       5.ไม่กระทําการใดๆ ในลักษณะที่ก่อให้ความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างในโครงการปฏิรูปที่ดินสภาพแวดล้อม หรือเสียหายต่อการทําประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่น

       6.ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (คปก.) และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.)

       7.ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมที่ทํากับ ส.ป.ก.และตามพันธะกรณีที่มีอยู่กับสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ดําเนินงานร่วมกับ ส.ป.ก. เช่น ตามสัญญากู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส.หรือสัญญาตามโครงการพัฒนาการเกษตรร่วมกับภาคเอกชน

       นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่า หรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเนื้อที่ในแปลงที่ดินที่ได้รับการจัดจาก ส.ป.ก.อีกด้วย ถ้าเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กําหนดไว้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะมีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในกําหนดถ้าเกษตรกรยังคงฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) จะมีคําสั่งให้สิ้นสิทธิและต้องออกจากที่ดิน

ารสิ้นสิทธิ

       ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.จะสิ้นสิทธิในที่ดิน ในกรณีดังต่อไปนี้

      1.ตาย หรือสละสิทธิ์เว้นแต่จะมีการตกทอดทางมรดกตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518

      2.โอนสิทธิการเข้าทําประโยชน์การเช่า หรือการจัดให้โดยมีค่าชดเชยไปยังบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 

      3.ขาดคุณสมบัติตามระเบียบที่ คปก.กําหนด คือไม่ได้ถือสัญชาติไทย หรือมีที่ดินทํากินเป็นของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกันเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพก่อนได้รับการคัดเลือกเข้าทํากินในเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่เป็นเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ

      4.ฝ่าฝินระเบียบข้อบังคับของ ค.ป.ก.ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทําประโยชน์ในที่ดิน

     อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือบุคคลผู้ได้รับจัดสรรที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะแบ่งแยก ซื้อขาย โอนสิทธิ ไปให้ผู้อื่นไม่ได้ ยกเว้นให้ทายาท สถาบันเกษตรกร หรือคืนให้ ส.ป.ก.เพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อไป