สทนช.จัดยิ่งใหญ่ "วันน้ำโลก" 22 มี.ค.62 (ชมคลิป)

 

 

 

 

         สทนช. จัดยิ่งใหญ่ "วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ภายใต้แนวคิด "ทั่วถึง..เท่าเทียม.. เพียงพอ" 22 มีนาคม 2562 นี้ที่ห้างเซ็นทรัลฯ เวสต์เกต มุ่งสร้างความตระหนักการบำรุงรักษาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมระดม 18 องค์กรด้านน้ำ ร่วมนำเสนอภาพรวมผลงานขับเคลื่อนงานบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมถึงแผนงานพัฒนา 6 ด้านตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี  โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มุ่งให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำสะอาดภายในปีนี้

 

         นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมากขึ้นในทุกภาคส่วน ขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติความมั่นคงด้านน้ำ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค และสงครามแย่งน้ำในหลายพื้นที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันน้ำโลก" หรือ "World Day for Water" เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตัวเรื่องการบำรุงรักษา อนุรักษ์ พัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยแต่ละปีทุกประเทศจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

         สำหรับการจัดกิจกรรมของประเทศไทยปีนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักจัดกิจกรรม "วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 ระหว่างเวลา 09.30-15.00 น. ณ ห้องเวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต จ.นนทบุรี โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ "Leaving no one behind" ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมในการรณรงค์ระดับประเทศคือ "ทั่วถึง..เท่าเทียม.. เพียงพอ"

 

         โดยกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน คือ การนำเสนอผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมี 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำสำหรับภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการ  นอกจากนั้นยังได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การผลิต การกระจายน้ำ และสถาบันการศึกษา รวม 18  หน่วยงานร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนงานบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมถึงแผนงานในอนาคต ตลอดจนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงทิศทาง และมีส่วนรวมกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

         "สิ่งที่ สทนช. ต้องการเน้นย้ำ คือ การสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านที่ 1 เรื่องการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยมีแนวทางการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.ต้องการให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 หมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 7,490 หมู่บ้าน จะมีน้ำกินน้ำครบทุกหมู่บ้าน  รวมทั้งปรับปรุงระบบประปาเดิมที่ชำรุดเพื่อให้ใช้งานได้ 2.มุ่งพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน โดยมุ่งยกระดับให้ถึงเกณฑ์การตรวจวัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573  (SDGs) 3.พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 404 เมือง 4.2 ล้านครัวเรือน  รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน และ 4. การประหยัดน้ำทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เช่น การแก้ปัญหาความสูญเสียน้ำของระบบท่อ ซึ่งปัจจุบันนี้ ข้อจำกัดของการส่งน้ำด้วยระบบท่อของประเทศไทย ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทางไปไม่น้อยกว่า 30%  สทนช.จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดความสูญเสียของน้ำจากระบบท่อให้เหลือเพียง 20% ให้ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดการหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียด้วย"

 

         เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ "ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค" มีหน่วยงานร่วมเสวนา 5 หน่วยงาน ได้แก่ สทนช. การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอนามัย ในประเด็นเกี่ยวกับการความท้าทายของการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ กิจกรรมเล่าเรื่อง "สายน้ำแห่งชีวิต" สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักเห็นคุณค่าของน้ำ ผ่านเพลงฉ่อย มรดกภูมิปัญญาไทย ที่ถ่ายทอดโดยศิลปินชั้นครู จำอวดสามน้า (น้าโย่ง-น้าพวง-น้านงค์) กิจกรรมบทเพลงสีสันสายน้ำ ค่ายตามรอยสายน้ำ ตามหาน้ำสะอาด และร่วมเล่นเกมเพื่อรับของที่ระลึกอีกด้วย

 

         นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สนทช. พร้อมด้วย นางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะ ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างหอระบบประปาบาดาล ณ บ้านดอนกลาง หมู่ 5 ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของคนในชุมชน

         นายสมเกียรติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 คสช.เข้ามาดูแลการบริหารจัดการน้ำ พบว่าเรื่องสำคัญก็คือการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชนกว่า 77,490 หมู่บ้านทั่วประเทศ จึงได้ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลืออยู่อีก 170 หมู่บ้านที่หาน้ำได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เพราะไม่มีน้ำบนผิวดินอีกทั้งน้ำบาดาลก็ต้องใช้เทคโนโลยีพิเศษเพื่อเจาะลงไปให้ลึก สำหรับฉะเชิงเทรานั้นก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่การใช้น้ำบนผิวดินอาจไม่เพียงพอจึงต้องใช้น้ำบาดาลร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2562 ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการขุดบ่อบาดาลให้หมู่บ้านที่เหลืออีก 170 หมู่บ้าน ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จในปีนี้

         ด้าน นางสาวจงจิตร์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ตำบลดอนฉิมพลี แต่ก่อนใช้น้ำจากลำคลองเป็นหลัก ทว่าปัจจุบันน้ำในลำคลองเริ่มมีการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพื้นที่แห่งนี้ขุดลงไปแล้วเจอน้ำเค็ม ต้องสำรวจลงไปอีกเพื่อหาชั้นบาลดาลที่มีน้ำจืดในปริมาณที่เพียงพอ โดยได้ดำเนินโครงการขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมพร้อมระบบประปามาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จรวม 6 จุดเพื่อประชาชนกว่า 1 พันครัวเรือนได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค 

 

 

AD BANNER HEAD