น้ำการทูต : อาวุธลับ สทนช.

 

 

น้ำการทูต : อาวุธลับ สทนช.

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

         การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นองค์กรหลักด้านน้ำของประเทศไทย มีความหมายอย่างมาก

         ไม่เพียงบูรณาการงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานมากกว่า 30 หน่วยใน 7 กระทรวงเข้าด้วยกันเท่านั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้านหนึ่งในสายตาของต่างประเทศ สทนช. คือตัวแทนสูงสุดด้านน้ำของประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียว

         "แต่ก่อนเวลาต่างประเทศต้องการติดต่อหน่วยงานด้านน้ำ เขาไม่รู้ติดต่อหน่วยงานไหน บางทีติดต่อกันหลายหน่วยงานเผื่อเอาไว้ บางหน่วยก็ไม่ตรงกับที่เขาต้องการ แต่พอมี สทนช. ขึ้นมา ต่างประเทศติดต่อมาโดยตรงเพียงจุดเดียวก็เรียบร้อย ถ้าเป็นงานของ สทนช. ก็รับไปเลย ถ้าเป็นของหน่วยงานอื่น สทนช. ก็พิจารณาให้และจัดการผ่านต่อไปให้เลย เขาสะดวกขึ้น ตรงเป้าหมายเลย" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

         สทนช. จึงเนื้อหอมเป็นที่รุมตอมของหน่วยงานด้านน้ำระหว่างประเทศ ทั้งที่เพิ่งตั้งได้ครบขวบปีเดียว นอกเหนือจากการติดต่อประสานทั่วไป สทนช. ยังเดินทางไปแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นแห่งแรกเมื่อปี 2561 ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำและมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาโดยตลอด

         อย่าลืมว่า เนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปฏิเสธรัฐบาลทหาร คสช. แต่หัวหน้าทีม สทนช. ฝ่ายไทย คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ สมาชิก คสช. ที่ดูแล สทนช. โดยตรง

         น้ำจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

         ครั้งที่สอง ต้นปี 2562 สทนช. เดินทางไปฮังการีตามคำเชิญของหน่วยงานด้านน้ำ แม้ฮังการีเป็นประเทศในอียู แต่มีจุดยืนไม่ข้องแวะกิจการภายในของประเทศอื่น ฮังการีเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนที่น่าสนใจในการขยายตัวไปยังประเทศสมาชิกอื่น อีกทั้งไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย ในขณะฝ่ายไทยเองก็มองว่าฮังการีก็เป็นทางหนึ่งในการเข้าอียู เป็นเรื่องประโยชน์ร่วมกัน

         การพบปะครั้งนี้ฮังการีส่งผู้บริหารรัฐบาลระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกี่ยวกับน้ำมาร่วมพูดคุยด้วย ถือเป็นมิติที่น่าสนใจในการร่วมมือกันโดยมีเรื่องน้ำเป็นสื่อกลางทางหนึ่ง

         อย่างน้อยที่สุด เท่ากับเป็นการเปิดพรมแดนความรู้เรื่องน้ำระหว่างกัน โดยฮังการีโดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำดานูบร่วมกับกว่า 10 ชาติสมาชิก น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยกับ 5 ชาติสมาชิก หรือความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำเสีย ที่ส่วนหนึ่งนำไปบำบัดแล้วใช้ต่อ อีกส่วนนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

         ในภูมิภาคเอเชีย สทนช. ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีสภาน้ำเอเชีย (Asia Water Counsil) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคของสภาน้ำโลก (World Water Counsil) ซึ่งมีสมาชิก 130 องค์กรทั่วโลก โดย AWC เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมด้านน้ำ และผลักดันวาระเรื่อง

         น้ำของภูมิภาคเอเชีย เป็นที่ตระหนักของเวทีน้ำโลก โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการ AWC ระหว่างปี 2559-2561 โดยปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา

 

         ขณะเดียวกัน สทนช. ยังมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงของ 6 ชาติสมาชิก ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 มีนาคม 2562 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยมีรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. เป็นประธาน เลขาธิการ สทนช. เป็นรองประธาน โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

         ตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนสะท้อนบทบาทของ สทนช. ในระดับนานาชาติได้ระดับหนึ่ง และยิ่งเป็นความมุ่งมั่นของ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ด้วยแล้ว องค์กรหลักด้านน้ำของประเทศไทยน่าจะมีบทบาทและสีสันในระดับกว้างมากขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยตามมาอย่างแน่นอน

         ไม่เฉพาะแค่น้ำกับน้ำ แต่แปรน้ำเป็นเครื่องมือทางการทูตอีกทางหนึ่งด้วย

 

AD BANNER HEAD