เกษตรกรบัวใหญ่ ฟื้นฟูดินเค็ม ปลูกพืชผสมผสาน เพิ่มธาตุอาหาร

         นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยคณะลงพื้นที่บ้านตะคร้อ ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา รับฟังบรรยายสรุปการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม โดยสูบน้ำลดระดับน้ำใต้ดินใช้ระบบโซลาเซล ปรับรูปแปลงนาเพิ่มขนาดคันนา เพื่อเก็บน้ำ และใช้ประโยชน์ปลูกยูคาลิปตัส สำหรับการปรับปรุงบำรุงดินใช้วิธีการไถกลบตอซังและทำปุ๋ยพืชสดเพิ่มอินทรีย์ธาตุอาหารในดินและช่วยลดการแพร่กระจายของเกลือสู่ผิวดิน การปลูกพืชอาคาเซียเพื่อลดความเค็ม ปลูกหญ้าดิ๊กซี่คลุมดินรักษาความชื้น และต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ใช้สอย ทุกวิธีเป็นวิธีการผสมผสานที่เกษตรกรให้การยอมรับและสามารถฟื้นฟูพื้นที่จนปลูกพืชได้ผลดี

 

         พื้นที่ปลูกพืชไร่ อ้อยและมันสำปะหลังของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบปัญหาชั้นดานใต้ดินเป็นบริเวณกว้างเนื้อที่ประมาณ 1. 6 ล้านไร่ สาเหตุเกิดจากการไถของเครื่องจักร ชั้นดานนี้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช รากหยั่งลึกไม่ได้ส่งผลให้พืชขาดน้ำ และหัวมันเน่าจากน้ำขัง จากการพบปะกลุ่มเกษตรกร ณ พื้นที่เกษตรของนายประกร ประวันทา บ้านหนองเม็ก ตำบลด่านช้าง พบว่าเกษตรกรต้องการการแก้ปัญหาชั้นดาน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทดสอบการทำลายชั้นดานโดยใช้หญ้าแฝกที่ระดับความลึกน้อยกว่า 30 ซม. และใชีริบเปอร์ทำลายชั้นดานที่ความลึก 50-70 ซม. พบว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง

 

         จากการลงพื้นที่และรับฟังปัญหาจากเกษตรกรรวมถึงการดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดินอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้นักวิชาการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ทำโครงการแก้ปัญหาแบบครบวงจร ตั้งแต่ ดิน น้ำ พืช ตลาด เสนอต่อที่ประชุม อพก. เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ADS. home