โครงการเขื่อนปะอาว PR3 : โมเดลจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ ยั่งยืน

      พื้นที่ชลประทานโครงการเขื่อนปะอาว PR3 แม้ได้ชื่อเป็นพื้นที่ชลประทาน และมีระบบชลประทานเป็นเครื่องมือส่งน้ำ เช่น คลองสายใหญ่ สายซอย สายแยกซอย ก็ไม่ได้หมายความว่า ได้รับน้ำทั่วถึง

      เขื่อนปะอาว เป็นเขื่อนทดน้ำในลักษณะประตูระบายน้ำ (ปตร.) กั้นลำเซบายตอนล่าง ก่อนไหลไปบรรจบแม่น้ำชี ส่วน PR3 คือ สถานีสูบน้ำ (P-Pumping) ฝั่งขวา (R-Right) ลำดับที่ 3 โดยสรุป เป็นพื้นที่ชลประทานฝั่งขวาของลำเซบายตอนล่าง โดยใช้สถานีสูบน้ำเหนือ ปตร.ปะอาว เพราะลำน้ำทางอีสานอยู่ต่ำกว่าพื้นที่การเกษตร ต้องสูบน้ำขึ้นมาใส่ในคลองส่งน้ำอีกทอดหนึ่ง แล้วจึงส่งไปยังพื้นที่การเกษตร 

      ที่ผ่านมา พื้นที่ชลประทานโครงการเขื่อนปะอาว PR3 บริเวณ ต.หัวดอน ต.ก่อเอ้ และพื้นที่ใกล้เคียงราว 10,000 ไร่ ของ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้รับน้ำไม่ทั่วถึงเพราะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เกษตรกรจึงพึ่งพาน้ำฝนทำนาเป็นหลัก ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

      ปี 2556 ระครูสุขุม วรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ และผู้นำในพื้นที่ได้มีส่วนในการริเริ่มและขยายพื้นที่เรียนรู้การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่าดงใหญ่วังอ้อ และโครงการโคกหนองนาโมเดล

      “เดิมทีชาวบ้านทำนาอย่างเดียว พอมาทำเกษตรแบบยั่งยืน และโคกหนองนาโมเดลก็เริ่มปลูกพืชหลากหลาย นอกจากข้าวก็มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดคนกิน ถั่วลิสง อาศัยกักเก็บน้ำจากน้ำฝน อีกส่วนขุดบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นไปเก็บบนแทงก์เพื่อใช้ในการเกษตร” พระครูสุขุมเล่า

       สิ่งที่ตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมดคือความมั่นคงเรื่องน้ำที่จะเข้าถึงที่ดินทุกแปลง เมื่อนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และดูแลกรมชลประทาน จึงสั่งการให้จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมโดยเร่งด่วน เมื่อปี 2561 ร่นจากแผนเดิมที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน วางแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2563

      “หลวงพ่อไปดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมมาบเอื้องทุกปี พอจะคุ้นเคยอยู่ พอท่านมาตรวจราชการที่นี่จึงเสนอโครงการจัดระบบน้ำ เพื่อให้พื้นที่ ต.หัวดอน และ ต.ก่อเอ้ เข้าถึงน้ำอย่างเป็นรูปธรรมเสียที” เพราะลำพังโคกหนองนาโมเดล ในพื้นที่ดินทรายเองก็เผชิญปัญหาขาดน้ำจากการซึมลงดินและระเหยไม่น้อย จนต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำชลประทานผ่านการจัดระบบน้ำ

      นายเทอดศักดิ์ ลักษณะหุต ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตกรรมที่ 15 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เล่าว่า ชาวบ้านต้องการน้ำ ความร่วมมือในการจัดระบบน้ำจึงไม่มีปัญหา สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2561 ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่

     “งานจัดระบบน้ำเป็นงานคันคูน้ำเดิม ที่ก่อสร้างคูน้ำและคันคูไปตามแนวแปลง ทำให้น้ำที่ส่งมาถึงพื้นที่ทุกแปลง พอก่อสร้างเสร็จก็ถ่ายโอนภารกิจให้ อบต. รับผิดชอบส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้น้ำกำหนดกติกากันเอง กรมชลประทานนอกจากสร้างคูน้ำแล้วยังส่งน้ำมาให้ตามที่ตกลงกัน”

      นายเทอดศักดิ์กล่าวอีกว่า แผนงานต่อไปในปี 2562 จะขยายพื้นที่จัดระบบน้ำใน ต.ก่อเอ้ อีก 1,000 ไร่ ที่เหลืออีก 8,000 ไร่ จะพยายามเร่งรัดก่อสร้างระบบน้ำให้แล้วเสร็จในระยะต่อไปตามความต้องการของเกษตรกร

      การได้รับน้ำทั่วถึงจากการจัดระบบน้ำ เป็นการสร้างมั่นคงด้านน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ซึ่งในฤดูฝนไม่ค่อยมีปัญหานัก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีปริมาณฝนปีละ 1,600 มิลลิเมตร แต่การเก็บกักอาจมีปัญหาตรงที่ดินเป็นดินทรายเก็บน้ำไม่ค่อยได้ การมีแหล่งน้ำต้นทุนอย่าง ปตร.ปะอาว และระบบชลประทาน ได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย สายแยกซอย คูส่งน้ำ ช่วยให้พื้นที่บริเวณนี้มั่นคงด้วยน้ำ 

      “ทิศทางการเกษตรที่นี่ หลวงพ่อริเริ่มทำกลุ่มอินทรีย์วิถีไทย ลดปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดใช้สารเคมี และหาตลาดรองรับ มีห้างท็อปส์มาร์เก็ต โรงพยาบาลเขื่องในเป็นตลาดหลัก เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆทำ ไม่เน้นปริมาณ แต่ให้มีความสม่ำเสมอส่งของได้ต่อเนื่อง ที่ผ่านเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 25,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับการปลูกกันมากน้อยและความขยัน”

      พื้นที่ชลประทานโครงการเขื่อนปะอาว PR3 จึงเป็นจุดบรรจบของระบบน้ำคือมีแหล่งน้ำต้นทุน ได้แก่ เขื่อนปะอาว ระบบชลประทาน ได้แก่ คลองสายใหญ่ สายซอย แยกซอย และการพัฒนาระบบน้ำในระดับไร่นาที่ทำให้น้ำเข้าถึงแปลงเกษตรทุกแปลง ผสมผสานกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเกษตรกรบางส่วนใช้โคกหนองนาโมเดลในพื้นที่ตัวเองสร้างความมั่นคงและเพิ่มพูนรายได้อีกส่วนหนึ่ง

       แนวทางนี้ เป็นโมเดลการจัดการน้ำที่สมบูรณ์และน่าสนใจทีเดียว