ดันวิสาหกิจฯบ้านอุ่มแสง : อาหารปลอดภัยใน"โรงพยาบาล โรงเรียน แหล่งเที่ยว"

     รีสะเกษ - นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (อินทรีย์) ต.ดู่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่  

      โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง หนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องและมีมาตรฐาน มีนายบุญมี สุระโคตร เป็นประธานกลุ่มฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2547 มีสมาชิกกว่า 1,200 ราย ที่รวมตัวกันผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล ภายใต้แนวทางการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุณ ภาพของผลผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูป ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เกิดการจ้างงานและมีรายได้เพิ่มจากอาชีพหลัก เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของทุกคนในชุมชน 

       ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนดังกล่าว ได้ดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ได้แก่ (1) แปรรูปข้าวอินทรีย์ ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวปลอดสาร/ข้าวอินทรีย์ และขอตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ทั้ง IFAOM ,EU ,NOP และมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) (2) ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน รักษาสิ่งแวดล้อม (3) ทำนาข้าวขาวดอกมะลิ 105 อินทรีย์ ทั้งส่งเสริมให้ทำนาหลากหลายวิธี ทั้งนาดำ นาหว่าน นาโยน นาหยอด และดำนาโดยเครื่องจักร เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการทำนาและเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร และ (4) ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ยิ่งชึ้น เช่น ถั่วเหลือง ปลูกถั่วพุ่ม ถั่วพล้า ปอเทือง  

       “ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจบ้านอุ่มแสง มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 22,000 ไร่ เป้าหมายจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 30,000 ไร่ในปีหน้า และจะขยายเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป และมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัดรวม 250,000 ไร่ ในปี 2564 ทั้งนี้ทางกลุ่มฯ ยังต้องการให้กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ 1.ด้านการตลาด ซึ่งขณะนี้ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้โรงพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้คนไข้ แม่และเด็ก นักเรียน นักท่องเที่ยว เป้าหมายเพื่อประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยและปลอดโรค 2.ส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษาด้านเงินทุน 3.ส่งเสริมด้านการผลิต แปรรูป เชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคเอกชน และ 4.พัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกขุดบ่อน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มรายได้ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน ไปปรับแผนโครงการให้เหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรต่อไป”นายวิวัฒน์ กล่าว