การเคหะตั้งกองทุน 5,207 ล้าน ช่วยผู้มีรายได้น้อย

         คณะรัฐมนตรีไฟเขียวการเคหะแห่งชาติจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย กรอบวงเงิน 5,207 ล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เผยกองทุนฯ จะช่วยผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ไม่น้อยกว่า 7 แสนหน่วย ใกล้เคียงกับผลงานตลอด 46 ปีของ การเคหะแห่งชาติเลยทีเดียว
         ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 มีมติอนุมัติการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ในประเด็นยุทธศาสตร์การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้เป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยมีกรอบวงเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการตั้งต้น 5,207 ล้านบาท ขอรับจัดสรรเป็นระยะเวลา 4 ปี แบ่งเป็น 1,599 ล้านบาท 2,442 ล้านบาท 779 ล้านบาท และ 387 ล้านบาท โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
         กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดปกติได้และไม่มีประวัติทางการเงินที่เสียหาย โดยกองทุนฯ จะเข้าร่วมในโครงการเช่าซื้อ (Hire - Purchase) เช่าเพื่อซื้อ (Rent - to - Buy) ออมก่อนกู้ (Saving - to - Buy)
         "ถึงแม้ว่ากองทุนฯ จะช่วยผู้มีรายได้น้อยที่กู้แบงก์แล้วไม่ผ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าช่วยทั้ง 100% คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติเน้นให้การเคหะแห่งชาติดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยง และบริหารจัดการกองทุนฯ ให้ดี"

         ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ในบริบทของกองทุนฯ อาจพิจารณาการให้สินเชื่อต่างไปจากสถาบันการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้มากที่สุด เครื่องมือลดความเสี่ยงบางอย่าง หากนำมาใช้ก็ต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อย
         "อย่างข้อมูลเครดิตบูโรที่ใช้ติดตามสถานภาพทางการเงินของผู้กู้ บางคนค้างหนี้เพียงเล็กน้อย แต่มีชื่อเป็นบัญชีดำ กรณีอย่างนี้เราต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นคนที่ควรกู้ได้ก็จะกู้ไม่ได้"
         ดร.ธัชพล กล่าวว่า การตอบสนองนโยบายรัฐบาลและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 จะทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 2.27 ล้านครัวเรือน มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน มีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี และมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล