พด. วอนเลิกเผาตอซังพืช-ฟางข้าว สาเหตุปัญหาหมอกควันไฟ

         นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงปัญหาหมอกและควันที่เกิดจากไฟป่าและจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี และได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก โดยในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และตาก จะมีปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงพฤษภาคม ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากเผาขยะเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่าไม้เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร
         "เมื่อปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการไถกลบตอซังพืชและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันในพื้นที่เกษตรกรรมภาคเหนือ ด้วยการใช้ดาวเทียมติดตามจุดความร้อนที่เกิดขึ้น และนำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินมาซ้อนทับเพื่อจำแนกเขตพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และอื่นๆ พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 มีปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจำนวน 15,949 จุด หลังจากดำเนินการโครงการในปี 2561 ปริมาณจุดความร้อนลดลงเหลือ 14,564 จุด นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณจุดความร้อนลดลงอีกด้วย โดยในปี 2560 พบจำนวนจุดความร้อน 5,397 จุด ขณะที่ปี 2561 ลดลงเหลือ 4,721 จุด เนื่องมาจากการดำเนินงานของภาครัฐและประชาชน ที่ให้ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหา"

         อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้เลิกพฤติกรรมการเผาเศษไม้ ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืชในพื้นที่โล่งเตียนและไม่จุดไฟเผาป่า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง สูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรนำใช้ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารจัดการเศษวัสดุตามหลักวิชาการในพื้นที่ของตนเอง และให้ปรับเปลี่ยนความคิดตลอดจนวิธีการทำเกษตรกรรมจากเดิมที่เป็นการเผาทำลายทิ้ง ให้เป็นการใช้วิธี ไถกลบแทนโดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการทำเองใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุง บำรุงดินให้มีคุณภาพที่ดี รวมทั้งเป็นการป้องกันการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) มิให้เพิ่มขึ้นและช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพน้อยลง ที่สำคัญยังช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี