ขอรับรองมาตรฐาน GAP ข้าว : ผู้ผลิตปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย ชาวนาไทยยั่งยืน

    ารปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว (Good Agricultural Practices For Rice) หรือการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP นั้น ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว วัตถุประสงค์เพื่อ

    1) ผลิตข้าวเปลือกที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง 

    2) ผลิตข้าวเปลือกตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

        2.1 กลุ่มข้าวทั่วไป (มกษ.4401-2551) 

         - มีข้าวพันธุ์อื่นปน ไม่เกิน 5% 

         - มีข้าวเมล็ดแดงปน ไม่เกิน 2% 

         - คุณภาพการสีได้ปริมาณตันข้าวและข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่า 34%

        2.2 กลุ่มข้าวหอมมะลิไทย (มกษ.4400-2552)

         - มีข้าวพันธุ์อื่นปน ไม่เกิน 5% 

         - มีข้าวเมล็ดแดงปน ไม่เกิน 1%  

         - คุณภาพการสีได้ปริมาณตันข้าวและข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่า 36%

    ทั้งนี้ กระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรที่ทำหน้าที่ผู้ผลิตนั้นปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย อันนำมาซึ่งชาวนามีตวามมั่นคง ยั่งยืน ต้องดำเนินการภายใต้หลักปฏิบัติ 7 ข้อคือ

       1.แหล่งน้ำ : มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตราย

       2.พื้นที่ปลูก : ต้องไม่มีวัตถุอันตรายที่ทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในข้าว

       3.การใช้วัตถุอันตราย : ห้ามใช้สารเคมีต้องห้ามตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร การใช้และการเก็บรักษาต้องป้องกันการเกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้อื่น

       4.การจัดการคุณภาพข้าว : ป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันกำจัดศัตรูข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

       5.การเก็บเกี่ยวข้าว : เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม ต้องลดความชื้นให่ไม่เกิน 15%

       6.การขนย้าย เก็บรักษา รวบรวมผลผลิต : สถานที่ อุปกรณ์ ยานพาหนะต้องสะอาด ป้องกันการปนเปื้อน ไม่มีผลต่อคุณภาพของผลผลิต และ

       7.การบันทึกข้อมูล : ต้องจดบันทึกข้อมูลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และครบถ้วน

     ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่สนใจขอใบรับรองการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP มีขั้นตอนหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

       1.สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่หน่วยงานในพื้นที่ ดังนี้ ศูนย์วิจัยข้าว,ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว,สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ,สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด

       2.เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์วิจัยข้าว,ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว หรือสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ

       3.เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูล และปฏิบัติตามข้อกำหนดของการผลิตข้าว GAP

       4.เกษตรกรรับการตรวจประเมินเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าว,ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว หรือสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ

       5.ผู้ตรวจประเมินเข้าตรวจตามข้อกำหนดของมาตรฐานข้าว GAP

       6.คณะทบทวน พิจารณาตัดสินใจให้การรับรอง และ

       7.กรมการข้าวออกใบรับรองให้เกษตรกรผู้ได้รับการรับรอง

     สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามที่กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว โทร.02-561-2174 E-mail : dric_rd@rice.mail.go.th หรือที่ http://dric.ricethailand.go.th/images/GAP.pdf